Fund Comment พฤศจิกายน 2566: ภาพรวมตลาดหุ้น

Fund Comment พฤศจิกายน 2566: ภาพรวมตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นโลกในเดือนพฤศจิกายนกลับเข้ามาสู่โหมด Risk on อีกครั้ง โดยตลาดโดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นกว่า 9.4% หลังจากการประกาศผลการประชุมเฟดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีมติคงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ในขณะเดียวกัน คำแถลงการณ์ของเฟดในครั้งนี้มีโทนที่เข้มงวดน้อยลง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันน่าจะเป็นจุดสูงที่สุดแล้ว และมีโอกาสปรับตัวลดลงหลังจากกลางปี 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาระหว่างเดือนชะลอตัวลง ตัวเลข ISM ภาคการผลิตในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 46.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 49 ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% และตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า โดยตัวเลขที่ออกมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด เป็นสัญญาณที่ดีว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจจะลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟดได้เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลงจากที่เคยขึ้นไปแตะ 5% มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4.2% ซึ่งเป็นแรงหนุนให้กับบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกต่อจากนี้

ในฝั่งตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวสวนทางกับตลาดโลก ติดลบ 0.1% โดยตลาดมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีผลต่อตลาดไทยมากกว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยต่ำกว่าคาด แม้จะมีมาตรการฟรีวีซ่าให้ชาวจีนก็ตาม โดยจากการเปิดเผยของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท) พบว่า ตัวเลขเที่ยวบินจากจีนเข้ามายังประเทศไทยมีการยกเลิกเที่ยวบินกว่า 46% จึงสร้างแรงกดดันให้กับหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว โดยเฉพาะหุ้นบางตัวที่มีมูลค่าขนาดตลาดใหญ่ซึ่งส่งผลต่อดัชนีตลาดค่อนข้างมาก ในทางกลับกันหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้ากลับปรับตัวเพิ่มขึ้นระหว่างเดือน จากการที่กกพ. มีมติเห็นชอบในการขึ้นค่า Ft สำหรับเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.99 บาท ส่งผลเชิงบวกต่อการคาดการณ์ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจนี้

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมา  GDP ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.5%  ซึ่งออกมาแย่กว่าตลาดคาด และชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.8% โดยมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกสะท้อนผ่านการผลิตและส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการลงทุนของทางภาคเอกชนและภาครัฐที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยรวมแล้ว ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังคงขาดปัจจัยที่จะมาสนับสนุนในระยะสั้น แต่ในขณะเดียวกันตลาดก็น่าจะสะท้อนความกังวลจากปัจจัยลบต่างๆ ไปพอสมควรแล้ว และน่าจะมีทิศทางที่ทยอยดีขึ้นได้บ้างหลังจากนี้