ผู้บริโภคมือเติบในยุคเทคโนโลยี The Series ตอนที่ 5

ผู้บริโภคมือเติบในยุคเทคโนโลยี The Series ตอนที่ 5

นาย Zak Dycthwald ผู้แต่งหนังสือ “Young China: How the Restless Generation Will Change Their Country and the World” เขียนบทความลงใน The New York Post เมื่อช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาได้น่าสนใจว่า คนจีนรุ่นใหม่ หรือพวกมิลเลนเนียลที่เกิดระหว่างปี 1982 – 1998 จะมีอิทธิพลไม่เพียงแต่เศรษฐกิจและสังคมของจีนเท่านั้น แต่จะเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโลกในอนาคต

คนจีนมิลเลนเนียลมีจำนวน 400 ล้านคน หรือมากกว่าคนอเมริกันมิลเลนเนียลที่มีอยู่ 80 ล้านคนถึง 5 เท่า มีคนจีนมิลเลนเนียลมากกว่าอเมริกัน และแคนาเดียนมิลเลเนียลรวมกันเสียอีก

นาย Zak Dycthwald เรียนจบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นิวยอร์ค ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เมืองจีนถึง 4 ปีเพื่อที่จะเรียนรู้คนจีนยุคใหม่ ตอนนี้เขาย้ายกลับมาอยู่ที่นิวยอร์ค และได้ก่อตั้งหน่วยงานคลังสมองและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคนจีนยุคใหม่

เขามองเห็นลักษณะร่วมของคนจีนมิลเลนเนียล 4 ประการด้วยกันคือ ประการแรก คนจีนยุคใหม่มีใจเปิด พร้อมที่จะรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แตกต่างกับคนจีนยุคเก่าเติบโตขึ้นมาหลังกำแพงแห่งวัฒนธรรมและไม่ได้มีโอกาสเหมือนคนในยุคปัจจุบัน คนจีนมิลเลนเนียลดูหนังดูละครของอเมริกันหรือโลกตะวันตก แม้ว่าสื่ออินเทอร์เน็ตอาจจะถูกปิดกั้น แต่พวกเขาเรียนรู้วิถีของโลกนะวันตก ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ค่านิยม ไลฟ์สไตล์ การเมือง สถานที่สำคัญๆ ระบบการศึกษา คนจีนมิลเลเนียลเป็นผู้ที่คล่องแคล่วในการเล่นอินเทอร์เน็ต 90%ของคนจีนมิลเลเนียลมีโทรศัพท์มือถือ

คนจีนมิเลนเนียลไม่ได้เรียนรู้โลกผ่านสื่อในโลกออนไลน์อย่างเดียว แต่พวกเขาอยากจะเดินทาง อยากท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อที่จะเรียนรู้ หรือเห็นของจริง 2 ใน 3 ของพาสปอร์ตที่คนจีนถือทั้งหมดเป็นคนจีนมิลเลเนียลที่มีอายุต่ำกว่า 36 ปี ถึงแม้ว่ามีเพียงคนจีน 6% เท่านั้นที่ถือหนังสือเดินทาง แต่ตลาดทัวร์จีนที่ท่องเทียวนอกประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีนักท่องเที่ยวจีนมิเลเนียลเป็นพลังขับเคลื่อน

ตัวเลขของ World Tourism UNWTO รายงานว่า การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของจีนมีจำนวน 261,000ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน เม.ย. 2017 เทียบกับ 122,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับตลาดเอาท์บาวด์ของสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ ตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกต้องพยายามได้นักท่องเที่ยวจีน

ประการที่สอง พอจะบอกได้ว่าคนจีนร่ำรวยขึ้น จากผ้าขี้ริ้วเป็นเศรษฐี ตั้งแต่ปี 1990 รายได้ต่อหัวต่อจีดีพีของคนอเมริกันโตขึ้น2 เท่าครึ่ง แม้ว่านี้จะเป็นอัตราการโตที่สูง แต่ไม่สามารถจะเทียบกับจีนได้ เพราะว่าในระยะเวลาเดียวกัน จีดีพีของจีนเติบโตถึง25 เท่า คนจีนยุคใหม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดทางกายภาพในช่วงชีวิตของตัวเอง จากชนบทสู่เมือง จากรถจักรยานสู่รถยนต์ จากบ้านทรงเตี้ยๆ เป็นตึกสูงระฟ้า

ประการที่สาม โครงสร้างประชากรจีนได้เปลี่ยนไป เมื่อประธานเหมา เจ๋อตุง สร้างสาธารณรัฐจีนในปี 1949 ครอบครัวจีนโดยเฉลี่ยแล้วมีลูก 5-6คน อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนจีนคือ 36 ปีเท่านั้น เนื่องจากภาวะสงครามภายใน และความอดอยาก โครงสร้างประชากรจีนจึงมีคนหสุ่มสาวเป็นฐานของปิรามิด ส่วนคนที่มีอายุอยู่ส่วนบนของปิรามิด คนจีนหวังว่าเมื่อแก่ตัวลง ลูกหลานจะเลี้ยงดู แต่โดยมากแล้ว ไม่ค่อยจะมีโอกาสเกษียณ เพราะว่าเสียชีวิตเสียก่อน

แต่โครงสร้างประชากรจีนในยุคปัจจุบันกลับหัวกลับหาง ความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นทำให้คนจีนมีอายุยาวนานมากยิ่งขึ้น ตอนนี้คนจีนมีอายุเฉลี่ย 76 ปี นโยบายลูกคนเดียวของจีนเพื่อจำกัดการเพิ่มจำนวนประชากรระหว่างปี 1979 – 2015 ทำให้ทุกวันนี้มีจำนวนคนจีนที่อ่อนวัยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับคนจีนที่สูงวัย ทำให้เกิดโครงสร้างของครอบครัวในรูปแบบ 4-2-1 คือปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และลูกคนเดียว

คนจีนยูคใหม่รู้ดีว่า จะไม่สามารถทำงานหนักในโรงงาน ผลิตสินค้าราคาถูกๆ ออกมาขายเหมือนคนจีนยุคเก่าที่กำลังเกษียณอายุในเวลานี้หลังจากที่จีนเปิดประเทศมาได้กว่า 30 ปี สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเจ้าของกิจการเอง และผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อที่จะเป็นผู้นำโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยี กลุ่มคนจีนมิลเลนเนียลจะมีบทบาทสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ที่จะลดการพึ่งพาการส่งออก แต่จะเพิ่มซัพพลายใหม่ผ่านนวัตกรรม เทคโนโลยี และธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยการบริโภคภายในจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

ประการสุดท้าย คนจีนยุคใหม่ หรือยุคมิเลนเนียลมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และมีการศึกษาที่ดีขึ้น แม้ว่าจะมีการแข่งขันสูง ระบบการศึกษาจีนได้ออกจากการให้ต่องคัมภีร์ของประธานเหมาตั้งแต่ปี 1990 มาสู่การเรียนรู้สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ซึ่งคนจีนมีหัว เรียนเก่ง การเปิดประเทศทำให้คนจีนได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือที่สหรัฐหรือยุโรปมากขึ้น ภายในประเทศ ระบบการศึกษาได้มีการปรับปรุง ทำให้มหาวิทยาลัยของจีนมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด

คนจีนยุคมิเลเนียลเติบโต และเรียนรู้ภายใต้โครงสร้างที่รัฐบาลเป็นผู้นำ และเป็นผู้ชี้แนวทาง ไม่มีการเมืองประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก เพราะว่าจีนปกครองด้วบระบอบอำนาจนิยม แต่จีนมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ทำให้สามารถดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถก้าวทันโลกตะวันตกในด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าจีนมิเลเนียลอาจจะต้องการสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นในการแสดงออก แต่พวกเขารู้ดีว่าพวกเขาไม่ได้แข่งกับตัวเอง แต่กำลังแข่งกับโลกภายนอกด้วย