มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น  0.02% – 0.09%  โดยมีปัจจัยหลักมาจาก 1) การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติประมาณ 17,650 ล้านบาทถือเป็นการขายสุทธิเป็นเดือนแรกในรอบปี    โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้เกาหลีใต้อีกครั้งหลังสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีคลี่คลายลง     2) ตลาดกังวลต่อการที่นาย John Taylor มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯคนใหม่   ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของ FED เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เข้มงวดมากขึ้น      อย่างไรก็ตาม    ในท้ายที่สุด  ประธานาธิบดี Trump ได้เสนอชื่อนาย Jerome Powell ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯแทน    โดยนาย Jerome Powell มีแนวคิดในการดำเนินนโยบายการเงินตามแนวทางเดิมด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ    ทำให้ตลาดตอบสนองในเชิงบวกต่อปัจจัยดังกล่าว       ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯในวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.00%-1.25% ตามเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ    โดยคณะกรรมการฯหลายท่านยังเชื่อมั่นว่า จะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 12-13 ธันวาคม 2017

สำหรับปัจจัยภายในประเทศได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2017  ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%  เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและยังเริ่มส่งผลบวกต่อการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง      ทางด้านเงินเฟ้อมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่คณะกรรมการฯประเมินไว้     ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในอนาคต

แนวโน้มตราสารหนี้ไทยในอนาคต คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นโดยเฉพาะตราสารอายุต่ำกว่า 1 ปีจะอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อไปจากปริมาณอุปทานที่ลดลง       ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเดิมเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่ชัดเจนมากำหนดทิศทางของตลาด    โดยปัจจัยสำคัญที่ตลาดกำลังจับตาคือ ความคืบหน้าของนโยบายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ และการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน(QE)ของธนาคารกลางยุโรปในอนาคตหลังประกาศลดปริมาณ QE ลง