Initial Coin Offering (ICO)

Initial Coin Offering (ICO)

By…อรุณี ศิลปการประดิษฐ
ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น ตัวอย่างที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า Bitcoin ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจการลงทุนประเภทนี้ จนเกิดการเสนอขายเงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก

แม้การระดมทุนผ่าน ICO มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการระดมทุนผ่าน IPO หุ้นสามัญ แต่สิ่งที่นักลงทุนได้รับจะเปลี่ยนจากหุ้นสามัญ เป็นการได้รับเหรียญสกุลดิจิทัลแทน โดยบริษัทที่ต้องการระดมทุนโดยออกเหรียญสกุลดิจิทัลจะกำหนดราคาและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เอาไว้ เช่น การมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของหรือได้ลิขสิทธิ์จากโครงการนั้น ซึ่งนักลงทุนก็มีความคาดหวังว่าเหรียญดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ

เหรียญสกุลดิจิทัลถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาคอมพิวเตอร์และการถอดสมการคณิตศาสตร์ ในขณะที่เทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain จะเป็นส่วนสนับสนุนให้การทำธุรกรรมออนไลน์ที่ปราศจากคนกลาง มีความสะดวกและน่าเชื่อถือมากขึ้น เนื่องจาก Blockchain เป็นการเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ มีการบันทึกข้อมูลการทำรายการของทั้งระบบพร้อมๆ กันทุกครั้งที่มีการทำรายการ และส่งข้อมูลไปยังทุกๆ คน ทำให้การแก้ไขปลอมแปลงเป็นได้ยาก

การระดมทุนผ่าน ICO เปิดโอกาสให้นักพัฒนาระบบมากมายที่ต้องการพัฒนาโครงการต่างๆ สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นเนื่องจากไม่ต้องผ่านกลไกของตลาดหลักทรัพย์ ลดเงื่อนไขที่ซับซ้อนยุ่งยาก อีกทั้งยังสามารถระดมทุนได้จากนักลงทุนทั่วโลก ประกอบกับการที่บริษัทต่างๆ ประสบความสำเร็จในระดมทุนมากขึ้น ยิ่งส่งผลให้ความต้องการลงทุนใน ICO เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่ผ่านมามีการระดมทุนผ่านการออก ICO มูลค่ามากกว่า 18,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ

ที่มา : https://icodashboard.io/ico-statistics/
ที่มา : https://icodashboard.io/ico-statistics/

ถึงแม้ว่าการลงทุนใน ICO จะสร้างโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว แต่จากความง่ายของการระดมทุนส่งผลให้บางโครงการ ผู้ระดมทุนมีเพียงแนวความคิดเพื่อนำเสนอกับผู้ลงทุนเท่านั้น ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงก็อาจจะทำให้นักลงทุนไม่ได้รับเงินคืนได้ รวมทั้ง ICO ในบางประเทศยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ อีกทั้งอาจเกิดการฉ้อโกงหรือการหลอกลวง เนื่องจาก ICO เป็นการระดมทุนที่ทำทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์ เช่น การเปิดเวปไซด์ปลอม หรือการสร้าง ICO ปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกให้นักลงทุนไปลงทุน

ในหลายๆ ประเทศเงินสกุลดิจิทัลอาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่ถูกกฏหมาย ส่วนประเทศไทย แม้ว่าการลงทุนใน ICO จะยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ก็เริ่มมีธุรกิจหลายๆ โครงการที่ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนผ่าน ICO มาแล้วเช่นกัน เช่น OmiseGO, Zcoin, SIX Network

รวมทั้งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านกระบวนการระดมทุน ICO แล้ว โดยได้กำหนดเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะต้องการออก ICO นั้นจะต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย มีแผนธุรกิจชัดเจน มีงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ มีการเปิดเผย Source Code สำหรับใช้ในกระบวนการ ICO มีหนังสือชี้ชวน มีการรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ และต้องผ่านการอนุมัติจาก กลต. ด้วย

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ถ้าจะถามว่าการลงทุนใน ICO มีความน่าสนใจหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่ทำการระดมทุนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการลงทุนใน ICO ส่วนใหญ่มีความซับซ้อนมากกว่าการลงทุนทั่วไป ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรต้องศึกษาข้อมูลโครงการนั้นๆ โดยละเอียด ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากโครงการนั้นๆ ประสบความสำเร็จ นักลงทุนก็อาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก แต่หากการลงทุนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เหรียญที่มีอยู่นั้นก็อาจจะไม่เหลือค่าอะไรเลย เพราะเหรียญดิจิทัลเป็นเพียงตัวเลขที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น นักลงทุนจะได้รับกำไรก็ต่อเมื่อราคาเหรียญสกุลเงินดิจิทัลนั้นๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มีสิทธิในการเข้าไปบริหารหรือรับส่วนแบ่งกำไรของบริษัทเหมือนกับการลงทุนในหุ้น

ถึงแม้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อออกมาควบคุมและลดโอกาสที่จะเกิดการหลอกลวงนักลงทุน หรือช่วยป้องกันความเสี่ยงแล้วก็ตาม แต่การลงทุนใน ICO ก็ยังคงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งจากลักษณะของโครงการมักที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ จนนักลงทุนอาจไม่สามารถเข้าใจรายละเอียดของโครงการเพียงพอ ดังนั้นหากนักลงทุนที่สนใจลงทุนใน ICO ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน