ธรรมะกับการออม

ธรรมะกับการออม

บัญชา ตรีบวรสมบัติ
Portfolio Solutions

จากธรรมะกับการออมตอนที่ผ่านมา คือ การขยันหาทรัพย์ ซึ่งตรงกับธรรมะที่ว่า หลักสันโดษ หลักหัวใจเศรษฐี หลักความสุขของคฤหัสถ์ 4 ซึ่งเน้นเรื่อง การขยันหาทรัพย์ วิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย เข้าใจจัดการ โดยมีสติปัญญาในการจัดการใช้ทรัพย์ว่า ควรจะใช้เท่าใด จะทำทุนเท่าใด เก็บไว้สำรองเท่าใด รวมถึงการประหยัด รู้จักออม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ สำหรับธรรมะกับการออมตอนนี้ จะขอขยายความสุขอันเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวลใจเพราะมีหนี้สินติดค้างใคร แม้นมีหนี้ ก็เป็นหนี้ที่สามารถจัดการบริหารได้ ไม่ได้มีหนี้ล้นพ้นตัว จนเกินกำลังนั่นเอง

“การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก – อิณาทานัง ทุกขัง โลเก”

ธรรมะสุภาษิตยังกล่าวไว้ถึงความไม่พึงปรารถนาของความเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ จะทำอะไรก็รู้สึกเครียด อึดอัดไปหมด แน่นอนครับว่า ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แล้วเราจะมีวิธีปลดหนี้อย่างไรให้ได้ผลอย่างยั่งยืน โดยไม่กลับมาเป็นหนี้อีก ตามมาครับ

เริ่มจากการตั้งสติและพยายามรวมรวมข้อมูลสถานะการเงินในปัจจุบันของเรา มีทรัพย์สิน หนี้สินทั้งหมดเท่าไหร่ เป็นหนี้สั้นหรือยาว ดอกเบี้ยและยอดชำระแต่ละเดือนเท่าไหร่ กระแสรายรับรายจ่าย คือประมาณว่าท่านต้องจัดทำบัญชีรวมรวมข้อมูลทางการเงินเพื่อใช้ในการวางแผนถึงความสามารถในการการชำระเงินที่แท้จริง ในส่วนที่ไม่พอคงต้องขอเจรจายืดหนี้หรือถ้าเจ้าหนี้ใจดี อาจขอให้พิจารณาลดหนี้บางส่วนก็เป็นได้ ที่สำคัญอย่าพยายามหนีหนี้ ควรเข้าเจรจากับเจ้าหนี้ มิฉะนั้นประวัติการเป็นหนี้ของท่านจะเสียหายซึ่งจะมีผลต่อการกู้หนี้ในอนาคตได้

ปรับพฤติกรรมการใช้เงิน ตัดลดทอนรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น อาทิ การแต่งกายหรือการทานอาหารนอกบ้าน วางแผนการเดินทางเพื่อประหยัดค่ารถหรือค่าน้ำมัน

ใช้เวลาว่างวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ในการหารายได้เสริม หรือหาช่องทางขายของ ออนไลน์ หรือใช้ความสามารถพิเศษของตัวท่าน อาทิ การเล่นดนตรีหรือร้องเพลงในการทำงานพิเศษ เป็นต้น
อย่าหวังพึ่งหนี้นอกระบบเด็ดขาด เพราะอัตราดอกเบี้ยนั้นสูงยิ่งกว่าหนี้ในระบบหลายเท่าตัวเลยทีเดียว หากหลวมตัวไปแล้วท่านสามารถขอรับความช่วยเหลือและคำปรึกษาได้ที่ส่วนราชการหลายแห่ง อาทิ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม หรือ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

สุดท้ายการจัดการเงินคือการจัดการที่ใจ การมีสติ การจัดการที่ใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การบริหารเงินหรือวินัยการใช้เงินมันเป็นจริงได้ คือเราต้องรู้ทันจิตใจของเรา มีสติพิจารณาว่ารู้เท่าทันใจว่ามีความอยาก หลายท่านวางแผนการเงินซะดี แต่ถึงเวลาไม่สามารถห้ามใจในสิ่งที่ไม่ควรซื้อ หรือบางท่านตั้งใจจะออมแบบ DCA แต่ก็หาเหตุผลให้ไม่ลงทุนตามนั้น ทำให้แผนการชำระหนี้รวมถึงแผนการออม เบ้ไปจากที่ตั้งใจ ก็เป็นเพราะใจท่านมันไม่ยอมร่วมมือด้วย (DCA คือการทยอยลงทุนแบบเฉลี่ยในแต่ละงวดเท่าๆ กัน)

กล่าวโดยสรุป การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่ต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจและทำอย่างเป็นประโยชน์ คุ้มค่า ไม่ใช่เป็นหนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่ก่อหนี้เพื่อการบริโภค หรือเห่อตามกระแสสังคม หากจะต้องเป็นหนี้ ให้เป็นหนี้เท่าจำนวนที่ท่านสามารถวางแผนชำระหนี้ไหว และท่านต้องพอมีเงินสำรองเผื่อกรณีสถานการณ์เปลี่ยนด้วย ท้ายสุดที่ฝากไว้คือ หลักการพอเพียงง่ายๆ จำไว้ให้ขึ้นใจ หากยังไม่พร้อม ต้องไม่สร้างหนี้

“ออมก่อน รวยกว่า”
กองทุนบัวหลวง