ลงทุนกับภาษีดูดีๆ เกี่ยวกันยังไง

ลงทุนกับภาษีดูดีๆ เกี่ยวกันยังไง

ลงทุนกับภาษีดูดีๆ เกี่ยวกันยังไง

โดย…อรพรรณ  บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

เรื่องของการออม กับการลงทุน ดูๆ แล้วก็คล้ายๆ กัน เพราะเป็นเรื่องของเงิน ยิ่งมีมากเท่าไหร่ใครๆ ก็คงหลงใหลได้ปลื้มมากเท่านั้น แต่พอพูดถึงภาษี แค่ได้ยินก็เจ็บจี๊ดขึ้นมาถึงขั้วหัวใจ ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าต้องเสียเงินมากเท่านั้น แม้ว่าเงินที่เสียไปจะเป็นเงินที่ให้รัฐนำไปบริหารบ้านเมือง ทำให้ประเทศพัฒนาก็ตาม แต่ถ้าเรามีวิธีที่สามารถออมก็ได้ ลงทุนก็ดี และยังช่วยลดภาระภาษีที่เสียไปได้ ดีไม่ดีได้บุญอีกด้วย แบบนี้คงทำให้ใครหลายๆ คนอยากออมและลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นกอง ซึ่งในปีภาษี 2561 มีเทคนิคการออม การลงทุนดังนี้

ออมเพื่อสุขภาพ กับประกันชีวิต สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท มาลดหย่อนภาษีได้ โดยต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หากมีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้สามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสได้ตามจริง ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนประกันสุขภาพนั้น สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีเงินได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท และเราต้องการซื้อประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ สามารถนำใบเสร็จค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่มีชื่อเราเป็นผู้ชำระเงินมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ออมสำหรับเกษียณ กับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นการสะสมเงินโดยไม่นำเงินมาใช้จนกว่าจะเกษียณ ซึ่งตามแบบประกันเราสามารถเลือกได้ว่าจะเกษียณตอนอายุ 55 หรือ 60 ปี ส่วนค่าเบี้ยประกันสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

เที่ยวสุขใจกับ 55 จังหวัดเมืองรอง สามารถนำใบเสร็จค่าที่พัก หรือในกรณีไปกับทัวร์ สามารถนำใบเสร็จค่าทัวร์ตามที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ต่อบุญด้วยการบริจาคเท่าเดียวลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า กับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา และบริจาคเพื่อสนับสนุนให้กับสถานพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามประกาศกำหนด ซึ่งเงินบริจาคจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว เช่น บริจาค 1,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ 2,000 บาท เรียกว่าทำบุญครั้งเดียวลดหย่อนได้ทวีคูณ

บริจาคเท่าไหนลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น กับการบริจาคให้กับมูลนิธิ วัด องค์กรการกุศล ตามประกาศกำหนด ซึ่งเงินบริจาคจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน หากบริจาค 1,000 บาท ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1,000 บาทเท่ากับเงินที่บริจาค

เงินออมกับกองทุนประกันสังคม เป็นเงินที่เราจ่ายเป็นประจำทุกเดือน 5% ของเงินได้ แต่จะไม่เกินเดือนละ 750 บาท หรือปีละ9,000 บาท ซึ่งเงินที่จ่ายไปเราจะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยเมื่อตกงาน เงินบำเหน็จหรือบำนาญยามเกษียณ ฯลฯ ซึ่งเงินที่จ่ายไปจำนวน 9,000 บาท สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ด้วย

ผ่อนบ้าน อย่าลืมนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนได้ สำหรับใครที่มีภาระผ่อนบ้านอยู่ สามารถนำเอกสารสรุปดอกเบี้ยจ่ายประจำปีมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากกู้บ้านหลังเดียวกัน กู้ร่วมกัน 2 คน จะใช้สิทธิได้คนละครึ่ง สูงสุดไม่เกินคนละ 50,000 บาท อย่างเช่นกู้บ้านร่วมกันเสียดอกเบี้ย 160,000 บาท ดูแล้วอาจจะคิดว่าแบ่งคนละครึ่ง ได้คนละ 80,000 บาท แต่ที่จริงแล้ว บ้าน 1 หลัง จะใช้สิทธิได้สูงสุด 100,000 บาทด้วย ดังนั้น แม้ว่าจะเสียดอกเบี้ย 160,000 บาท ก็สามารถนำมาใช้สิทธิได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท เท่านั้น

ลงทุนสำหรับเกษียณ กับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่เราได้ยินคุ้นหูกันว่า กองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund : RMF) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายหลากหลาย ตั้งแต่ความเสี่ยงน้อยๆ ไปจนถึงความเสี่ยงสูง ลงทุนเฉพาะในประเทศหรือลงทุนในต่างประเทศ (ขึ้นอยู่กับนโยบายกองทุนที่เลือกลงทุน) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวสำหรับเกษียณ เนื่องจากต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุผู้ลงทุน 55 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถขายคืนได้อย่างถูกต้องตามเงื่อนไข

ส่วนเงินที่ลงทุนนั้น สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 3% ของเงินได้ทั้งปี หรือ 5,000 บาท จำนวนเงินใดต่ำกว่าเริ่มที่ยอดนั้น ส่วนการลงทุนสูงสุดได้ถึง 15% ของเงินได้ทั้งปี แต่เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ลงทุนในหุ้นไทย เพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงย กับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) มีนโยบายหลักๆ คือลงทุนในหุ้นบ้านเรา โดยมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เมื่อลงทุนแล้วต้องถือยาว 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่บังคับให้ลงทุนทุกปี เงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำไม่ได้กำหนด ซึ่งหลายๆ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อาจจะกำหนดที่ 500 บาท หรือ 1,000 บาท การลงทุนสูงสุดสามารถลงทุนได้ 15% ของเงินได้ทั้งปี ไม่เกิน 500,000 บาท (โดยไม่ต้องนำไปรวมกับใคร)

หากต้องการเงินปันผลสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลได้ แต่เงินปันผลที่ได้รับมาจะต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย ยกเว้นว่าจะแจ้งนายทะเบียนกองทุนเอาไว้ว่าให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งจะเสียภาษี 10% สามารถเลือกนำมารวมหรือไม่รวมเป็นเงินได้ก็ได้ แนะนำให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ก่อนเผื่อเสียภาษีฐานที่สูงกว่าจะได้ไม่ต้องกังวล

รู้อย่างนี้แล้ว จะออมจะลงทุน บริจาค ไปเที่ยว นอกจากจะได้ตามเป้าหมาย ตามใจที่เราต้องการแล้ว ยังได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมเป็นของแถมกันอีก ปีภาษี 2561 นี้ อย่าลืมดูกันให้ครบ เผื่อตกหล่นไป ว่ากันไม่ได้นะ