ทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2019 มีแนวโน้มชะลอลง

ทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2019 มีแนวโน้มชะลอลง

BF Economic Research

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2018 ของกลุ่มยูโรโซน 19 ประเทศเติบโต 0.2% QoQ sa (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่โต 0.4% QoQ sa โดยเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2014 หลักๆ เป็นผลมาจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศเติบโตในอัตราที่ชะลอลง จากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอลง ในรายประเทศ GDP เยอรมนีหดตัว -0.2 % QoQ sa (Prev. 0.5% QoQ sa) โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2015 โดยเป็นผลมาจากทั้งการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง

อนึ่ง เศรษฐกิจของเยอรมนีส่วนหนึ่งถูกฉุดรั้งจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รูปแบบใหม่ (WLTP) ที่ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา  นอกจากนี้ เศรษฐกิจของอิตาลียังหดตัวลงที่ -0.1% QoQ sa (Prev. 0.2% QoQ sa) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2014 เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนลดลง ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจของฝรั่งเศสกลับขยายตัวเร่งขึ้นที่  0.4% QoQ sa (Prev. 0.2% QoQ sa) ขณะที่เศรษฐกิจของสเปนยังคงขยายตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องที่ 0.6 % QoQ sa (Prev. 0.6% QoQ sa)

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อรวมของยูโรโซนยังคงเหนือกรอบที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดซึ่ง ECB ได้กำหนดให้เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าและใกล้เคียงระดับ 2% โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนในเดือนพ.ย. อยู่ที่ 2.1% YoY ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมาที่ขึ้นไปแตะ 2.2% YoY ท่ามกลางอัตราว่างงานย่อตัวลงเหลือเพียง 8.1% ในเดือนต.ค. ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

อนึ่ง หากเทียบการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3/2018 กับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา GDP ยูโรโซน (EA-19) ไตรมาส 3/2018 ขยายตัว 1.6% YoY ชะลอลงจากไตรมาส 2/2018 ที่ขยายตัว 2.2% YoY สำหรับทิศทางของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 แม้จะยังคงมีปัจจัยท้าทายทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง คาดว่า GDP รวมของยูโรโซนในปี 2018 จะขยายตัว 1.9%ชะลอลงจากปี 2017 ที่ 2.4%

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019

ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ เราคาดว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนมีแนวโน้มที่ชะลอลงเนื่องจากยุโรปยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกในประเด็นการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และความเสี่ยงภายในจากการเมืองภายในยุโรป สำหรับทิศทางของเศรษฐกิจปี 2019 กองทุนบัวหลวง คาดว่า GDP รวมของยูโรโซนจะขยายตัว 1.7% และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.6% 

แนวทางด้านนโยบาย

ในการประชุมเดือนมิ.ย. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศยุติมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) โดยการยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme: APP) วงเงิน 2.6 ล้านล้านยูโร (ราว 96 ล้านล้านบาท) ที่ใช้มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2015 ลงอย่างเป็นทางการตามกำหนดการที่วางไว้ว่าจะยุติ QE ภายในสิ้นปี 2018 หลังจากได้ประกาศลดการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านยูโร จาก 3.0 หมื่นล้านยูโรตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2018  นับเป็นการปิดฉากการอัดฉีดเงินอย่างยาวนานมากกว่า 3 ปี โดย ECB ได้ยืนยันการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB  (Deposit Facility) ไว้อยู่ที่ -0.40% อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (Main Refinancing Rate) ที่ 0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% เราคาดว่า ECB จะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2019 นอกจากนี้ ECB ยังระบุว่า จะเดินหน้าแผน Reinvestment ในพันธบัตรต่อ ซึ่งเป็นการนำเงินจากพันธบัตรที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีหน้าไปลงทุนหมุนเวียนซื้อพันธบัตรต่อไป จนกว่า ECB จะเริ่มเข้าสู่วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ความเสี่ยง 

การเมืองยุโรปเป็นประเด็นหลักที่ยังคงต้องจับตาเนื่องจากหลายเหตุการณ์ยังไม่ได้ผลสรุปที่แน่ชัด ส่งผลให้ความเสี่ยงจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้าโดยเฉพาะกระบวนการเจรจา Brexit ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยยังคงต้องจับตาการโหวตผ่านข้อตกลง Brexit ในสภาอังกฤษที่ต้องมีขึ้นภายในวันที่ 21 ม.ค. 2019 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในโอกาสโหวตผ่านในครั้งแรกมีค่อนข้างต่ำ  ดังนั้น ในปี 2019 ประเด็น Brexit จะยังคงสร้างความกดดันต่อเศรษฐกิจยูโรโซนอยู่

อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากการตั้งงบประมาณอิตาลี ที่ออกมาประกาศปรับลดตัวเลขงบประมาณขาดดุลจาก -2.4% ของ GDP เป็น  -2.04 % และเตรียมเสนอต่อสหภาพยุโรป (EU) แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษ ซึ่งน่าจะส่งผลให้สถานการณ์ในยูโรโซนผ่อนคลายขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามว่าร่างดังกล่าวของอิตาลีจะบรรลุข้อตกลงในขั้นตอนสุดท้ายกับ EU หรือไม่

BBLAM’s View

ติดตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB อาจมีผลต่อความผันผวนของค่าเงินยูโรต่อเนื่องไปยังค่าเงินดอลลาร์ฯที่มียูโรเป็นสกุลหลักในตะกร้า