มือใหม่เก็บเงินเที่ยวนอก…ง่ายนิดเดียว

มือใหม่เก็บเงินเที่ยวนอก…ง่ายนิดเดียว

มือใหม่เก็บเงินเที่ยวนอก…ง่ายนิดเดียว

โดย…อรพรรณ  บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

เรื่องเที่ยวๆ เป็นที่นิยมสำหรับคนไทย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ คนใกล้เกษียณ หรือหลังเกษียณ ก็ยังอยากเที่ยวกัน เพราะนอกจากจะไปพักผ่อนแล้ว ยังได้ประสบการณ์แปลกใหม่ๆ หรือมุมมองใหม่ๆ กลับมาพัฒนาตัวเอง พัฒนาความคิดได้ แต่สำหรับมือใหม่ที่อยากเที่ยวเอง รายได้ก็ยังไม่เยอะจะจัดการกับตัวเองได้อย่างไรนั้น คงหนีไม่พ้นการวางแผนทางการเงินเพื่อให้การเที่ยวนอกเป็นไปได้อย่างที่คิด

ในกรณีที่เพิ่งจบมาทำงานเป็นครั้งแรก ได้เงินเดือน 15,000 บาท อยากไปเที่ยวต้องทำอย่างไร? 

  • ถ้าเพิ่งจบมายังไม่ทำงานได้ไม่เท่าไหร่ ก็อยากเที่ยวแล้ว ถ้าอย่างนั้น ต้องถามก่อนว่าปัจจุบันมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแล้วหรือยัง  ถ้ายัง ต้องเก็บเงินสำรองก่อน เพราะหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด จะได้มีเงินสำรองเอาไว้ แนะนำให้มีอย่างน้อย 3 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน หรืออยากมี 3 เท่าของรายได้สำหรับผู้ที่เพิ่งทำงานใหม่ๆ ก็มีได้
  • เงินสำรองที่มี ควรมีในบัญชีเงินฝากธนาคารออมทรัพย์/ฝากประจำ/หรือลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อฉุกเฉินจะได้นำออกมาใช้ได้ง่ายๆ

ถ้าเก็บเงินสำรองไว้แล้ว อยากเก็บเงินไปเที่ยวต้องทำยังไง?

  • ถ้ามีเงินสำรองแล้ว ก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ ก็มาดูกันว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน อยากจะมีงบเท่าไหร่ และอยากจะไปเมื่อไหร่

ถ้าอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น แบบไปเที่ยวเอง Backpack 7 วัน 6 คืน ใช้งบสัก 50,000 บาท อีก 3 ปีข้างหน้าค่อยไป จะพอเป็นไปได้ไหม?

  • เป็นไปได้ ง่ายมาก ถ้ามีเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เก็บออม 10% ต่อเดือน หรือเดือนละ 1,500 บาท 3 ปี (36 เดือน) ก็มีเงิน 54,000 บาท โดยไม่ต้องนำเงินไปลงทุนอะไรเลย หรือ สามารถเพิ่มมูลค่าของเงินได้ โดยการนำไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้เงินเติบโตขึ้นอีกสักหน่อยก็สามารถทำได้แล้ว
  • แต่ถ้าบอกว่าเก็บได้แค่เดือนละ 1,300 บาท จะพอเป็นไปได้ไหม หากเก็บได้เดือนละ 1,300 บาท 3 ปี จะมีเงิน 46,800 บาท ซึ่งยังขาดอยู่ 3,200 บาท ก็ยังไปได้ หากคิดว่า 46,800 บาท เพียงพอ ถ้าเราประหยัดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าอาหาร ค่าของฝาก แต่ถ้าคิดว่ายังอยากได้ 50,000 บาท เหมือนเดิมก็ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มจากการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จกับเป้าหมายได้
  • ข้อที่ต้องรู้ก็คือ การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี นั้น ถ้าลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียว โอกาสที่จะให้เงินเติบโตคงได้เพียง 1-2% ดังนั้น จึงต้องมีบางส่วนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เช่น การลงทุนในหุ้น ประมาณ 30% ต่อปี ถึงจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนคาดหวัง 5% แต่ถ้าไม่เป็นเหมือนอย่างที่ตั้งใจก็ยังมีทางเลือกว่าจะขยายเวลาออกไป เช่นจาก 3 ปี เป็น 3ปีครึ่ง ก็ยังสามารถทำได้  หรืออาจจะหารายได้เสริมระหว่างทาง

นอกจากการเตรียมเงินไปเที่ยวแล้ว ยังต้องเตรียมอะไรอีกบ้าง?

  • ประกันการเดินทาง สิ่งนี้สำคัญ อย่าลืมทำก่อนไป ค่าเบี้ยประกันเพียงหลักร้อย แต่ช่วยเราได้เป็นหลักล้าน โดยเฉพาะการเจ็บป่วยในต่างแดน จะช่วยเราได้มาก
  • เช็คสภาพอากาศ ช่วงเวลาที่จะไป ว่าอยู่หน้าไหน เพราะญี่ปุ่นจะมี 2 ช่วงที่เป็นช่วง High Season คือช่วงปลายเดือน มี.ค. ถึงต้นเดือน พ.ค. (ชมดอกซากุระ) และช่วงปลายเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. (ใบไม้เปลี่ยนสี)  หากไปช่วงที่ไม่ติดวันหยุดยาว ช่วงเดือนที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว ราคาตั๋วเครื่องบินและที่พักจะถูกลง นอกจากนี้จะได้เตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
  • ดูอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการไปต่างประเทศ ต้องแลกเงินต่างประเทศไป ไปญี่ปุ่นก็ต้องแลกเงินเยน ถ้าแลกดอลลาร์แล้วไปใช้ที่ญี่ปุ่นจะต้องโดนอัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์เป็นเยนอีก จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้น ไปประเทศไหน ควรแลกเงินสกุลนั้นๆ ไป อาจจะทยอยแลกในช่วงที่ค่าเงินเยนอ่อน
  • ที่พัก ควรหาแต่เนิ่นๆ บางเว็บไซต์หรือบางแอปพลิเคชัน สามารถจองที่พักก่อนได้ และไปชำระเมื่อเข้าพักจริง แต่ถ้าหากเปลี่ยนใจไม่พัก จะต้องยกเลิกล่วงหน้าตามที่แจ้ง จะได้ไม่เสียเงินฟรี หากจองพร้อมตั๋วเครื่องบินจะมีโปรโมชั่นที่พักถูก
  • ตั๋วเครื่องบิน หากซื้อล่วงหน้านาน จะได้ราคาตั๋วที่ถูกกว่า การซื้อในช่วงใกล้ๆ ดังนั้น หากเหลือเวลาที่จะเตรียมตัวไปประมาณ 1 ปี ก็ลองมองหาราคาตั๋วเครื่องบินแบบประหยัดกันได้เลย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีโปรโมชั่นออกมากันบ่อยมาก และหากซื้อตั๋วไป-กลับในครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะถูกกว่า ซื้อตั๋วไปครั้งนึง และซื้อตั๋วกลับอีกครั้งหนึ่ง
  • ทำแผนการเดินทาง ก่อนการจองที่พัก เพื่อจะได้หาที่พักใกล้ๆ กับการเดินทางของเรา หากเปลี่ยนย้ายที่การเดินทางในประเทศที่เราไป เช่น ญี่ปุ่น ต้องดูว่าเราจะเน้นเที่ยวที่ไหน การเดินทางแบบไหนสะดวก อาทิ เดินทางโดยใช้ JR Pass หรือ คันไซทรูพาส (ใช้ได้ในภูมิภาคคันไซ สนามบินคันไซ สนามบินอิตามิ สถานีรถไฟโอซาก้า สถานีรถไฟเกียวโต สถานีรถไฟนารา) ซึ่งตั๋วรถไฟคันไซทรูพาส ไม่สามารถใช้โดยสารรถไฟ JR ได้ ดังนั้น ต้องวางแผนเดินทางให้ดี จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
  • WI-FI เป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางคนเดียว หากที่พักมีสัญญาณ WI-FI ให้ใช้ ในช่วงพักร่างกาย เตรียมตัวสำหรับการเดินทางวันถัดไป ก็เตรียมการเดินทางให้ดี แต่ถ้าต้องการเดินทางแบบมั่นใจก็สามารถเช่าอุปกรณ์ wi-fi จากไทยไปได้เลย
  • ที่สำคัญ อย่าตื่นเต้นจนเกินไป ต้องเตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อมด้วย ถ้าไปแบบป่วยๆ การเที่ยวที่เตรียมไว้คงไม่สนุกเป็นแน่

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องเตรียมอะไรไปอีกบ้างไหม? 

  • หลักๆ ในเรื่องแลกเงิน ถ้าแลกไปแล้วควรแบ่งใช้หลายกระเป๋า เผื่อตกหล่นสูญหาย จะได้เดินทางต่อได้
  • ถ้ามีบัตรเครดิต VISA MASTER JCB ก็พกพากันไปเผื่อไม่พอ หรือบัตรเดบิตที่สามารถถอนเงินสดจากต่างประเทศได้ ซึ่งในส่วนนี้แนะนำว่าจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้ตอนกลับจากเที่ยว เงินในบัญชีไม่หดหาย และเวลารูดบัตรควรจะรูดเป็นเงินเยน