สถานการณ์สังคมสูงวัย…ทั่วโลกกับไทยเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

สถานการณ์สังคมสูงวัย…ทั่วโลกกับไทยเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยนำเสนอรายงานแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุของโลกและไทยไว้ โดยชี้ว่า ภายในปี 2040 มากกว่า 14% ของประชากรบนโลกใบนี้จะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ถือเป็นโลกแห่งสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ

ถ้าดูรายภูมิภาค พบว่า เวลานั้น ยุโรปจะเป็นภูมิภาคที่มีสังคมผู้สูงอายุสูงสุด 26% ของประชากร ตามด้วยอเมริกาเหนือ 22% โอเชียเนีย 17% ละตินอเมริกา 16% เอเชีย 15% ส่วนแอฟริกา ดูเหมือนจะเป็นภูมิภาคที่สัดส่วนผู้สูงอายุน้อยที่สุดแล้ว 5%

เมื่อดูระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ละประเทศใช้เวลาไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 18 ปี ไปถึง 115 ปี ซึ่งไทย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุเร็ว เพราะใช้เวลาแค่ 20 ปีเท่านั้น โดยปี 2035 ประเทศไทยจะเป็นประเทศเดียวในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีผู้สูงอายุมากเกินกว่าประชากรวัยอื่นๆ

ทั้งนี้ จากสถิติประชากรของสหประชาชาติ ที่ประเมินไวัตั้งแต่ปี 2015 คาดว่า ไทยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 13% ในปี 2020 และสัดส่วนนี้จะขยับขึ้นเป็นเท่าตัวใน 20 ปีถัดไป หรือปี 2040 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ก็มาจาก อัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำลง และประชากรก็อายุยืนขึ้น

การที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็จะทำให้เกิดความท้าทายตามมา คือ การขาดแคลนแรงงาน ความต้องการบริการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งคนในครอบครัวรวมถึงรัฐบาลจะต้องเป็นที่พึ่งพาอาศัยด้านรายได้เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

ในที่สุดแล้ว หากจะรอหวังพึ่งพิงครอบครัวและรัฐบาลดูแลอย่างเดียว บางครอบครัวก็อาจจะทำได้ยาก ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานวันนี้  จึงควรเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อดูแลตัวเองในวันข้างหน้าไว้ด้วย ซึ่งการรู้จักเริ่มออมตั้งแต่เนิ่นๆ และการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีเงินออมเพียงพอใช้ในวัยเกษียณ จึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะช่วยให้เรารับมือได้กับสังคมผู้สูงอายุในวันข้างหน้า ที่ไม่รู้ว่า ค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตจะสูงขึ้นอีกแค่ไหน