Theme การลงทุนปี 2562 “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์”

Theme การลงทุนปี 2562 “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์”

วรวรรณ ธาราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร

กองทุนบัวหลวง

Theme การลงทุน คือ การกำหนดทิศทางที่เราจะโฟกัสในการลงทุนในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ระยะยาวที่เรามองเห็น

กองทุนบัวหลวงศึกษาเรื่องเมกะเทรนด์ แล้ววิเคราะห์หาแนวทางลงทุนโดยกำหนดเป็น Theme ในแต่ละปี เพื่อเราเองจะได้มีโฟกัสในการลงทุน และผู้ลงทุนจะได้รับรู้ทิศทางที่เรากำลังมุ่งพาไป

เหมือนก่อนจะขึ้นรถ เราต้องรู้ก่อนว่า คนขับรถคันนี้ เขาจะพาเราไปที่ไหน น้อยคนที่จะขึ้นรถเพราะมียี่ห้อที่ตนเองพอใจ โดยไม่สนใจว่า คนขับจะพาเราไปหนแห่งใด หรือขับรถฝีมือดีหรือไม่

หลักสำคัญของกระบวนการลงทุนของเรา คือ การมองไปข้างหน้า เพื่อแสวงหาโอกาสของผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เราดูว่าปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าจะมีเมกะเทรนด์อะไรเกิดขึ้น แล้วกำหนด Theme เพื่อโฟกัสการสรรหากิจการที่ได้ประโยชน์หรือรู้จักใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยหวังการเติบโตและผลกำไรจากการลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำในอนาคต

กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญกับเมกะเทรนด์มาก เพราะเมกะเทรนด์ คือ สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วแต่กำลังพัฒนาต่อเนื่องและจะคงอยู่ไปอีกยาวนาน โดยสามารถกำหนดทิศทางหรือชี้นำอนาคตของผู้คนบนโลกมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การดำเนินธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของผู้คน

ส่วน Theme คือ การกำหนดโฟกัสการลงทุนในช่วงสั้นๆ เช่น 1 ปี ที่จะสอดคล้องกับเส้นทางระยะยาวของเมกะเทรนด์  โดย Theme จะมุ่งไปที่กระแสต่างๆ ที่มีผลต่อธุรกิจและการลงทุน Theme ในแต่ละปีจะช่วยสร้างการจดจำและการอธิบายที่ทำให้เห็นภาพง่ายขึ้นถึงแนวทางและแนวคิดในการลงทุนของเรา

รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน  บนสายพานของโลจิสติกส์ (Logistics and Infrastructure Solutions)

Theme การลงทุนปี 2562 นี้เป็นการต่อยอด จาก Theme ปีที่แล้วที่ว่า “ตลอดสายซัพพลายเชน ตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซและยานยนต์ไฟฟ้า” เพราะกองทุนบัวหลวงมองว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์เด่นชัดนับจากนี้ไปคือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง เพราะ …..

  1. ประเทศไทยกำลังก้าวสู่วัฏจักรการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งแผนการลงทุนระบบราง ระบบถนน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เขาก็เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ไทยเองจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่ดีในใจกลางภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

นอกจากนี้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนก็เป็นแรงผลักดันที่ไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศ

ระบบคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นนั้น ไม่เพียงจะก่อให้เกิดโอกาสอันดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์และการขนส่ง แต่ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบเดิม และช่วยดึงซัพพลายเชนใหม่จากต่างชาติให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

  1. การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ในไทยสูงมาก เรามียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน เพราะคนทุกวัยนิยมซื้อผ่าน E-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มูลค่าตลาดและฐานจำนวนผู้ซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

ฐานลูกค้ากลุ่มนี้แม้จะยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก แต่การที่ผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำการตลาด E-Commerce กันมากขึ้น จึงจะส่งผลให้ธุรกิจ E-Commerce ในไทยกลายเป็นตลาดคู่ขนานไปกับการขายแบบหน้าร้านในอนาคตอันใกล้

เราจึงเห็นการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคที่สั่งซื้อออนไลน์ แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ ดังนั้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าให้รวดเร็ว ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนในการจัดส่ง ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงในชนบท สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

  1. การที่เมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพรองรับ ยกตัวอย่าง กทม.ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร มีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ทำให้เป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลก

ดังนั้น การขยายโครงข่ายการเดินทางมวลชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน และทางด่วน ที่กำลังทยอยก่อสร้าง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และกระจายความเจริญออกไปนอกเมืองได้มากขึ้น ธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะก็จะมีขอบเขตในการให้บริการและฐานผู้ใช้ที่มากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ โลจิสติกส์ โฆษณา หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย

เรามองว่า ต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพีลงมาโดยตลอด แต่การพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นไปในรูปแบบถนน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วเขาใช้ระบบรางในการขนส่งเป็นหลัก ทำให้มีต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีที่ต่ำกว่าเรามาก

ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการขนส่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นตัวปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการประกอบกิจการ การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท

กองทุนบัวหลวงจึงมองว่า ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ จะสามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนได้

นี่คือที่มาของ Theme ที่ว่า “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน  บนสายพานของโลจิสติกส์”

หากมองแค่ผลระยะสั้น ใครจะปลูกไม้สักทองที่ใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าจะได้ผลตอบแทนที่งดงาม คุ้มค่ากับการอดทนรอคอย