เทรนด์การแบ่งปันยานพาหนะ-ระบบอัตโนมัติจะปฏิวัติวงการยานยนต์ทั่วโลก

เทรนด์การแบ่งปันยานพาหนะ-ระบบอัตโนมัติจะปฏิวัติวงการยานยนต์ทั่วโลก

รายงานล่าสุดของ PwC ที่ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงผู้ใช้ยานพาหนะในอนาคต พบว่า การใช้ยานพาหนะร่วมกันและระบบอัตโนมัติจะปฏิวัติวงการยานยนต์ทั่วโลกภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นทั้งสายการประกอบและด้านการวิจัยและพัฒนา คาดว่า 40- 60% ของแรงงานที่มีทักษะร่วมสมัยจะเป็นที่ต้องการเพื่อประจำการในพื้นที่หน้างาน ขณะที่จำนวนความต้องการวิศวกรข้อมูลและวิศวกรซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นถึง 90%

สำหรับแนวคิดการแบ่งปันยานพาหนะและระบบอัตโนมัติร่วมกัน ทำให้ ผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์  (โออีเอ็ม) ต้องเร่งพัฒนารูปแบบของโรงงาน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) โรงงานที่มุ่งเน้นผลิตยานพาหนะแบบมาตรฐาน สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และทำงานได้อย่างอัตโนมัติ (Plug and play vehicles) เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานในเมืองที่มีอายุน้อย และ 2) โรงงานที่ผลิตยานพาหนะตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับตลาดรถหรูในปัจจุบัน

นาย ไฮโค เวเบอร์ หุ้นส่วนบริษัท Strategy& ของ PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ผู้ประกอบการโออีเอ็มต้องเริ่มสร้างกำลังแรงงานที่ตัวเองจะต้องการในอีก 10 ปีข้างหน้าตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งการจ้างบุคลากรที่มีทักษะที่ใช่ การรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ และการฝึกอบรมทักษะเดิมของพนักงานที่มีอยู่ โดยภายในปี 2030 จำนวนความต้องการวิศวกรข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 80% ในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ประเภทปลั๊ก แอนด์ เพลย์ และเช่นเดียวกัน ความต้องการวิศวกรซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นถึง 90% ในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าและ 75% ในโรงงานผลิตประเภทปลั๊ก แอนด์ เพลย์ ตามลำดับ