เกาหลีใต้เล็งเพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานทดแทนแตะระดับ 30-35% ภายในปี 2040

เกาหลีใต้เล็งเพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานทดแทนแตะระดับ 30-35% ภายในปี 2040

เกาหลีใต้จะลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานดั้งเดิมอย่างถ่านหินลง และเปลี่ยนไปใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าจะช่วยให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนมากขึ้น

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยภายในการรับฟังความคิดเห็นภาคสาธารณะ สำหรับร่างแผนแม่บทพลังงานของเกาหลีใต้ว่า รัฐบาลจะเพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานทดแทน สู่ระดับ 30-35% ของพลังงานทั้งหมด ภายในปี 2040 จากที่กำหนดไว้ในปี 2017 ที่ระดับ 7.6%

ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวจะได้รับการปรับปรุงใหม่ทุกๆ 5 ปี โดยมีเป้าหมายระยะยาวที่ 20 ปี และคาดว่ารายละเอียดของแผนแม่บทจะร่างขอบเขตการปรับลดแผนอุปทานด้านพลังงานจะประกาศในช่วงต่อไปของปีนี้

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามการผลักดันของรัฐบาลประธานาธิบดีมูน แจ-อิน เพื่อหันไปใช้แหล่งพลังงานสะอาด และปลอดภัยในการตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าภายในประเทศ โดยมีเป้าหมาย คือ นโยบายใหม่จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างความต้องการพลังงาน แทนการขยายอุปทาน โดยแผนแม่บทมีเป้าหมายที่จะสร้างตลาดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง และการบริโภคต่ำลง

รัฐบาลเกาหลีใต้จะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลงอย่างมาก โดยสั่งห้ามการสร้างโรงงานใหม่ และปิดโรงงานเก่าๆ ลง เพื่อรับมือกับมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละเอียด และก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้จะพยายามใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งยุติการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ๆ