Economic Review ครึ่งปีหลัง 2019 – เศรษฐกิจญี่ปุ่น

Economic Review ครึ่งปีหลัง 2019 – เศรษฐกิจญี่ปุ่น

BF Economic Research

 

ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา

เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 1/2019 ขยายตัว 0.6% QoQ (หรือ 2.2% QoQ saar) เพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 0.5% QoQ (หรือ 2.1% QoQ saar) ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขการบริโภคในประเทศลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนในประเทศดีขึ้น รวมไปถึงการลงทุนจากภาครัฐด้วย ในด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกได้หดตัวที่ -2.4% QoQ อันเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่ตัวเลขนำเข้าสินค้ากลับลดลงมากกว่าที่ -4.6% QoQ ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้การส่งออกสุทธิยังเติบโตได้ ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2019 นี้เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 จากไตรมาส 4/2018 ที่ขยายตัว 0.5% QoQ (หรือ 1.8% QoQ saar) โดยเป็นการเติบโตจากปัจจัยภายในประเทศอย่างการบริโภคและการลงทุนเป็นหลัก หลังจากที่ก่อนหน้านั้นในไตรมาส 3/2018 เศรษฐกิจหดตัว -0.6% QoQ (-2.6% QoQ saar) จากผลของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง

ด้านตลาดแรงงานในปี 2018 ค่าจ้างแรงงานมีการขยายตัว 0.9% มากขึ้นจากปี 2017 ที่ 0.5% เกือบเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งมาจากตลาดแรงงานมีความตึงตัวมากขึ้น อัตราการว่างงานในเดือนพ.ค. 2018 ที่ 2.2% นั้น นับว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะปรับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 2.4-2.5% จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ 2% มาก แม้จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2019 โดยในเดือนเม.ย. 2019 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.9% YoY อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักลบราคาอาหารสดก็อยู่ที่ 0.9% YoY เช่นกัน

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019

หลังจากปี 2018 ที่ผันผวน เรามองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2019 จะขยายตัวที่ 0.8% เท่ากับปี 2018 โดยมีปัจจัยลบจากสงครามการค้าที่ส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัว และไปกระทบการส่งออกของญี่ปุ่น ต่อเนื่องมาถึงการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะชะลอตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่ภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นจะเป็นตัวหนุนการบริโภคในประเทศ บวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Consumption Tax) ในเดือนต.ค. 2019 น่าจะทำให้ผลของการขึ้นภาษีไม่ร้ายแรงเท่ากับครั้งก่อนที่ปรับขึ้นในปี 2014 ทั้งนี้ เรามองว่า การจับจ่ายใช้สอยในประเทศจะเติบโตสูงในไตรมาส 3 เพื่อกักตุนสินค้าบางประเภทก่อนการปรับขึ้นภาษี และน่าจะทำให้ GDP ในไตรมาส 3 ขยายตัวดี ก่อนชะลอตัวในไตรมาส 4

แนวทางด้านนโยบาย

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ในการประชุมเดือนเม.ย. 2019 ที่ผ่านมา แต่ได้เปลี่ยนแปลงสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) เพื่อแสดงให้ตลาดรับรู้อย่างชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 2020 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ท่ามกลางความผันผวนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จากที่ก่อนหน้านี้ระบุเพียงว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ BoJ ยังได้คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดนั้นจะขยายตัว 1.6% YoY ในปีงบประมาณ 2021 (1 เม.ย. 2021-31 มี.ค. 2020) ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% แสดงให้เห็นว่า BoJ จะต้องเผชิญความยากลำบากในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า แม้ว่าจะมีท่าทีใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจก็ตาม

ด้านนโยบายภาครัฐ รัฐบาลยังเดินหน้าปรับขึ้นภาษีบริโภค จาก 8% เป็น 10% ในเดือนต.ค. 2019 แม้ก่อนหน้านี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการขึ้นภาษีออกไป จากความกังวลว่าการขึ้นภาษีจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย รัฐบาลจึงวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาได้ผ่านร่างงบประมาณปี 2019 ที่ 2.03 ล้านล้านเยน ซึ่งเน้นกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ในด้านปัญหาแรงงาน รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายสร้างงานจำนวน 300,000 ตำแหน่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง นับตั้งแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญภาวะวิกฤตในช่วงทศวรรษ 1990 รวมไปถึงเตรียมขยายช่วงอายุการทำงานของแรงงานไปจนถึง 70 ปี เพื่อลดปัญหาแรงงานขาดแคลน

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2019 ยังคงเป็นการขึ้นภาษีบริโภคในเดือนต.ค. นี้  ที่จะส่งผลกระทบให้การบริโภคในประเทศ และเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ เราคาดว่า รัฐบาลจะปรับภาษีขึ้นได้ตามที่กำหนดไว้ แม้จะมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ขึ้นภาษี ถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวรุนแรง นอกจากนี้ ความเสี่ยงเชิงลบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น จากประเด็นการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตาในปี 2019 เนื่องจากความขัดแย้งยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเจรจาทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็เป็นไปด้วยดี โดยสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นลง โดยจะกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่น แต่สหรัฐฯ จะยังไม่เจรจา และไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นในระหว่างนี้จนกว่าญี่ปุ่นจะเสร็จสิ้นการเลือกตั้งส.ว. ในเดือนก.ค.

ประเด็นด้านการเมือง

ในช่วงเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลสังกัดของอาเบะ ระบุว่า นายอาเบะอาจประกาศให้มีการยุบสภาขึ้นในเร็วๆนี้ และจะจัดการเลือกตั้งไปพร้อมกับการจัดการเลือกตั้งส.ว. ในเดือนก.ค. ที่กำลังจะถึง อย่างไรก็ดี นายยาสุโตชิ นิชิมุระ รองหัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรี และนายอคิระ อมาริ ประธานฝ่ายการเลือกตั้งของพรรค ได้ออกมาไม่เห็นด้วยประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ นายอาเบะไม่เคยกล่าวถึงการเลือกตั้งควบสองสภา (Double Election) มาก่อน ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา

BBLAM’s View Key Event สำคัญได้แก่การปรับขึ้น Consumption Tax ในเดือนต.ค.นี้ และความชัดเจนของการเจรจาด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ส่วนแนวทางด้านนโยบายการเงินนั้นน่าจะยังผ่อนคลายต่อไป