ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจไทยเริ่มโตช้าลงผลพวงเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจไทยเริ่มโตช้าลงผลพวงเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด พบว่า ต้นปีนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตชะลอลงจากร้อยละ 4.1 เมื่อปี 2018 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5  ปี 2019

การส่งออกหดตัวเหลือร้อยละ 4 ในไตรมาสแรกของปี 2019 นับเป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบสามปี การลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือนยังเติบโตใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบสามปีที่ผ่านมาโดยได้รับปัจจัยด้านบวกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ การลงทุนภาครัฐลดลงเนื่องจากการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอตัว จากการเลือกตั้งล่าช้า มีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงที่ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3 ครั้งแรกนับจากกลางปี 2015

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 3.6 และ 3.7 ในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ และคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะต่อเนื่องด้วยดี การลงทุนภาครัฐจะมีเร่งดำเนินงานมากขึ้น

“ความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐตามที่ได้วางแผนไว้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้าและการบริการ” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว

สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงสำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสมจาก 19 พรรคการเมืองมีผลด้านลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง และไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก