เรื่องน่ารู้กองทุนอสังหาฯ (ตอนจบ)

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน  จึงถูกจัดเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงถึงสูงมาก (สำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณาตามหลักเกณฑ์)  ผู้ลงทุนจึง จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน  เนื่องจากสินทรัพย์นั้นมีลักษณะเฉพาะ   โดยนักลงทุนมีข้อควรรู้ดังนี้ 1) กรรมสิทธิ์การลงทุน  และ 2) สินทรัพย์ที่ลงทุน

                 1)  กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์   ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า กองทุนรวมลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิขาดของกองทุนหรือไม่? กรณีที่เป็นสิทธิขาดเรียกว่า Freehold หรือสิทธิในความเป็นเจ้าของอสังหาฯ นั้น ผลตอบแทนที่ได้รับจะมาจากค่าเช่า และส่วนต่างราคากรณีขายคืนหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  แต่หากกองทุนรวมลงทุนในสิทธิการเช่า Leasehold หรือสิทธิในการจัดหาผลประโยชน์ในอสังหาฯ นั้นตามระยะเวลาที่กำหนด (เปรียบเปรยง่ายๆ เหมือนเซ้งมาลงทุน)    ผลตอบแทนที่ได้รับมาจากค่าเช่า โดยกองทุนรวมจะจ่ายผลตอบแทนพร้อมทยอยคืนเงินลงทุนให้ ซึ่งก็จะหมดลงกลายเป็นศูนย์เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด   ดังนั้น หากผู้ลงทุนไม่ทราบมาก่อนว่า Leasehold มีลักษณะอย่างไร?  ก็อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “ขาดทุนกลายเป็นศูนย์”

อย่างไรก็ตาม  หากให้เปรียบเทียบเรื่องความเสี่ยงระหว่าง Freehold กับ Leasehold ในเชิงทฤษฎี  ดูเหมือนว่า Leasehold จะมีความเสี่ยงมากกว่า  เนื่องจากเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดกองทุนจะหมดโอกาสในการหาผลประโยชน์ของสัญญาเช่านั้น    ในขณะที่ Freehold ยังมีโอกาสในการถือครองต่อไป
ในฐานะเจ้าของ (ตามสัดส่วน) และมีโอกาสได้รับราคาส่วนต่างจากการขายคืนหน่วยลงทุน

                 2)  สินทรัพย์ที่ลงทุน   ต้องศึกษาข้อมูลในสินทรัพย์ที่จะลงทุน  เพราะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในอาคารสำนักงาน   ส่วนใหญ่เป็น Leasehold  ได้รับประโยชน์จากค่าเช่า   สิ่งที่ต้องพิจารณาก็เป็นทำเลที่ตั้ง  ย่านธุรกิจ  คู่แข่งในอาคารใกล้เคียง  ผู้เช่ามากรายหรือน้อยราย  ธุรกิจของผู้เช่า ระยะเวลาคงเหลือของสัญญาเช่า เป็นต้น

การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน  แม้จะถูกจัดอันดับความเสี่ยงไว้ในระดับสูงถึงสูงมาก  ซึ่งเกณฑ์การจัดอันดับความเสี่ยงนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดไว้ตามประเภทและความซับซ้อนของสินทรัพย์การลงทุน เพื่อเตือนสตินักลงทุนให้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีลักษณะแตกต่างจากสินทรัพย์อื่นทั่วไป     “การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว  แต่เรื่องน่ากลัวเกิดจากการลงทุนด้วยความไม่เข้าใจ”