ผลวิจัยชี้เศรษฐกิจจีนจะโตเร็วขึ้น ถ้าผู้มีพรสวรรค์ดิจิทัลย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรมดั้งเดิมมากกว่านี้

ผลวิจัยชี้เศรษฐกิจจีนจะโตเร็วขึ้น ถ้าผู้มีพรสวรรค์ดิจิทัลย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรมดั้งเดิมมากกว่านี้

ไชน่าเดลี รายงานว่า ผู้ที่มีพรสวรรค์ด้านดิจิทัลในจีนเริ่มเคลื่อนย้ายจากการทำงานในภาคเทคโนโลยีตรงๆ ไปสู่อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ต้องการใช้ดิจิทัลเปลี่ยนแปลงธุรกิจแล้ว แต่ผลวิจัยชี้ว่า ความรวดเร็วของการเคลื่อนย้ายควรมีมากกว่านี้ เพื่อเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง

สถาบันเศรษฐศาสตร์และการจัดการด้านพัฒนาอินเทอร์เน็ตและธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยซิงหัว ร่วมมือกับลิงค์อิน ไชน่า ผู้ให้บริการเครือข่ายระดับโลก จัดทำผลวิจัยโดยรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกชาวจีนที่เป็นสมาชิกของลิงค์อิน 910,000 คน ซึ่งได้รับการระบุว่า มีคุณสมบัติพรสวรรค์ดิจิทัล ผลปรากฎว่า ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารเริ่มรวมตัวกันอยู่ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค การเงิน การศึกษา และบริการองค์กร ขณะที่ผู้มีพรสวรรค์ดิจิทัลหน้าใหม่ๆ ที่เพิ่งก้าวเข้ามาทำงาน เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าสู่ภาคการผลิตและการเงินในงานด้านที่เชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์และบริการไอที

Allen Blue ผู้ร่วมก่อตั้ง ลิงค์อิน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้เร็วขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ หากผู้มีพรสวรรค์ดิจิทัลเคลื่อนย้ายจากภาคเทคโนโลยีแท้ๆ ไปสู่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมของโลก ก็จะเข้าไปปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล่านั้นและยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมเพื่อไปสู่ความสำเร็จ โดยความต้องการผู้มีพรสวรรค์ดิจิทัลมีความหลากหลายมาก  ในอุตสาหกรรมการเงินต้องการผู้มีพรสวรรค์ดิจิทัลในเรื่องซอฟต์แวร์และบริการไอที ส่วนภาคการผลิตต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่กว้างออกไป เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการวิเคราะห์ข้อมูล

Chen Yubo ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอินเทอร์เน็ตและธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยซิงหัว กล่าวว่า นวัตกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บิ๊กดาต้า และเอไอ จะเป็นตัวเร่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม

ก่อนหน้านี้ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ออกมาระบุว่า จะเน้นบูรณาการการใช้อินเทอร์เน็ต บิ๊ก ดาต้า เอไอ กับเศรษฐกิจจริง ขณะที่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลของจีน มีมูลค่า 31.3 ล้านล้านหยวน หรือ 4.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 34.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน รวมถึงมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ