สภาเศรษฐกิจโลกเสนอ 7 แนวทางเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดขยะพลาสติก

สภาเศรษฐกิจโลกเสนอ 7 แนวทางเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดขยะพลาสติก

เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก เสนอรายงาน 7 แนวทางเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะพลาสติก โดยชี้ว่า บรรจุภัณฑ์เป็นกลุ่มที่สร้างขยะพลาสติกมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ต่างๆ พยายามลงทุนในแนวทางใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ โดยใช้ทางเลือกทดแทนพลาสติก หรือมีแนวคิดนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อสร้างความยั่งยืนมากขึ้น

มูลนิธิ  Ellen MacArthur ออกมาสนับสนุนกลยุทธ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การกำจัด การนำกลับมาใช้ใหม่ และการหมุนเวียนวัสดุ พร้อมเสนอ 7 แนวทางเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ 1.การกำจัดโดยตรง เป็นแนวทางง่ายๆ ป้องกันขยะบรรจุภัณฑ์ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ยกเลิกใช้ฟิล์มพลาสติกที่ไม่จำเป็นกับผลิตภัณฑ์ เช่น กระป๋องหลายชิ้น ถ้วยโยเกิร์ต การ์ดอวยพร ไปจนถึง ผ้าปูเตียง ส่วนในอเมริกาเหนือ ห้างวอลล์มาร์ทก็หยุดใช้พลาสติกใสบรรจุตุ๊กตา และยกเลิกใช้ห่อหุ้มผักบางชนิด 2.การใช้นวัตกรรมใหม่ เพราะบางกรณีบรรจุภัณฑ์ก็ยังจำเป็น ซึ่งการออกแบบนวัตกรรมช่วยให้เกิดผลที่แตกต่างได้ เช่น คาร์ลสเบิร์กที่ทดแทนวงแหวนพลาสติที่ใช้กับเบียร์ที่ขายเป็นแพ็ค ด้วยการใช้กาวจุดทำให้กระป๋องติดกัน หรือ ICA Gruppen ในสวีเดน ใช้เลเซอร์แกะสลักฉลากบนผักและผลไม้สด แทนการใช้ฟิล์ม

3.การเติม กรณีที่จำกัดบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ ก็นำกลับมาใช้ใหม่ ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ยูนิลีเวอร์ หรือ เอสซี จอห์นสัน เริ่มเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นเติมแบบเข้มข้นเพื่อไปเติมในขวดสเปรย์เดิมที่อยู่ในบ้าน เช่น สตาร์ทอัพที่ทำผลิตภัณฑ์แบบเติมตั้งแต่เม็ดยาสีฟัน ไปจนถึงผงซักฟอกแบบผง ที่เติมน้ำเข้าไปผสมได้ 4.นำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น Danone เสนอบริการสมัครสมาชิกตู้กดน้ำในละตินอเมริกา โดยให้นำเหยือกที่สะสมไว้มาใช้ใหม่ได้ หรือ DabbaDrop ในลอนดอน บริการจัดส่งอาหารในพื้นที่ โดยมีภาชนะเป็นปิ่นโต 5.การรีไซเคิลพลาสติก โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางรายการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้เลยทันที แต่อย่างน้อยวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ก็นำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น โคคา-โคลา เริ่มจำหน่ายสไปร์ทที่ใช้บรรจุภัณฑ์ใสซึ่งนำไปรีไซเคิลได้ง่าย แทนการใช้ขวดสีเขียว หรือคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ พัฒนาหลอดยาสีฟันที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลชิ้นเดียว

6.การทำปุ๋ยหมัก เป็นกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ด้วยการเปลี่ยนจากใช้พลาสติกไปใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น PG Tips และ PG Tips ที่เปลี่ยนจากใช้ถุงชาพลาสติกไปใช้ทางเลือกที่ย่อยสลายได้ และ 7.การใช้วัสดุทดแทน เนื่องจากนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษอาจสามารถขจัดความจำเป็นในการใช้โพลีสไตรีนและพลาสติกกันกระแทกได้