กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนาม (B-VIETNAM)  กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-VIETNAMRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนาม (B-VIETNAM) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-VIETNAMRMF)

Highlight

  • ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VNI) ปรับฐานลงแรงด้วยแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ท่ามกลาง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของเวียดนาม นอกจากนี้ในประเทศ ยังเผชิญปัจจัยลบจากการที่ภาครัฐเข้ามาดูแลเสถียรภาพของตลาดทุน ผ่านการเข้าตรวจสอบและจับกุมกลุ่มนักลงทุน/บริษัทหลายๆ แห่งที่ได้ทำการปั่นราคาหุ้น 
  • มุมของต่อตลาดหุ้นเวียดนามในระยะกลาง/ยาว ยังคงแข็งแกร่งเหมือนเดิม จากทั้งเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังเติบโตได้ดีในระดับ 5-6% ต่อปี ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (คิดเป็นว่า 4% ของ GDP) รวมถึง จุดเด่นด้านโครงสร้างประชากรที่ดี ซึ่งช่วยสนับสนุนทั้งการบริโภคในประเทศและการเติบโตของ FDI ในระยะยาว
  • ผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักในกลุ่มการบริโภคและท่องเที่ยวสูงกว่า Benchmark เพื่อรอการฟื้นตัวจากการบริโภคในประเทศและการเปิดเมือง และลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารน้อยกว่า Benchmark โดยยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า (Undervalued) และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสดสภาพตคล่องสูง เพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงในอนาคต

ภาพรวมตลาดและมุมมองการลงทุน

ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VNI) ปรับฐานลงแรง ด้วยแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ท่ามกลาง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของเวียดนาม

นอกจากนี้ในประเทศ ยังเผชิญปัจจัยลบจากการที่ภาครัฐเข้ามาดูแลเสถียรภาพของตลาดทุน ผ่านการเข้าตรวจสอบและจับกุมกลุ่มนักลงทุน/บริษัทหลายๆแห่งที่ได้ทำการปั่นราคาหุ้น อีกทั้ง รัฐบาลยังได้ชะลอความร้อนแรงของราคาที่ดินและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ด้วยการควบคุมการออกหุ้นกู้และการปล่อยเงินกู้ของภาคธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องถึงการชะลอการเติบโตของยอดขายอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของสินเชื่อธนาคารโดยรวม

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ นักลงทุนรายย่อย (ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในตลาด คิดเป็นกว่า 90% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด) ได้เกิด Panic Sell ขายหุ้นออกมาจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งนี้นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ซื้อขายหุ้นด้วยบัญชี Margin Loan และเมื่อราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลงแรง จึงทำให้ถูก Margin Call และนำไปสู่การถูกบังคับปิดสถานะการลงทุน (Force Sell) ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงเพิ่มอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นร้อนแรงที่มีการเก็งกำไรค่อนข้างมากในช่วงหน้าก่อนนี้ และ หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับความสนใจจากนักลงทุนหน้าใหม่ในประเทศค่อนข้างมาก ด้วยยอดการเปิดบัญชีหุ้นกว่า 2 ล้านบัญชี ภายในหนึ่งปี ทำให้ ปัจจุบัน เวียดนามมีจำนวนบัญชีหุ้นสูงถึง 5 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นราวๆ 5% ของจำนวนประชากร แม้ว่าข้อดีจะทำให้ตลาดโดยรวมมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ตลาดย่อมมีความผันผวนมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัจจัยลบเข้ามากระทบบรรยากาศการลงทุนโดยรวม

ผู้จัดการกองทุนมองประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเวียดนามในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบและเพิ่มความโปร่งใส่ในการลงทุน จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเวียดนามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และเสถียรภาพของตลาดที่ดีขึ้นจะทำให้ ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสจะขยับจาก Frontier market มาสู่ Emerging Market ได้เร็วมากขึ้น

ในแง่ของ Valuation ปัจจุบัน VN Index ซื้อขายในระดับที่ไม่แพง ด้วย PER ปี 2022/2023 ที่ 12.5 เท่า / 10 เท่า เทียบกับการเติบโตของกำไร (EPS growth) ที่ 19% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค โดยในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติใช้จังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามด้วย

สำหรับมุมของต่อตลาดหุ้นเวียดนามในระยะกลาง/ยาว ยังคงแข็งแกร่งเหมือนเดิม จากทั้งเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังเติบโตได้ดีในระดับ 5-6% ต่อปี ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (คิดเป็นกว่า 4% ของ GDP) รวมถึง จุดเด่นด้านโครงสร้างประชากรที่ดี ซึ่งช่วยสนับสนุนทั้งการบริโภคในประเทศและการเติบโตของ FDI ในระยะยาว

พอร์ตการลงทุน

ในช่วงไตรมาส 1 ผู้จัดการกองทุนได้ทยอยเพิ่มเงินสด และหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกโดยตรง ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงในช่วงเดือนเมษายนเริ่มทยอยเข้าลงทุนในหุ้นที่ยังมีพื้นฐานที่ดีและราคาหุ้นปรับตัวลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมมาก รวมถึงมี Business Model ที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระยะยาว

ผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักในกลุ่มการบริโภคและท่องเที่ยวสูงกว่า Benchmark เพื่อรอการฟื้นตัวจากการบริโภคในประเทศและการเปิดเมือง และลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารน้อยกว่า Benchmark โดยยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า (Undervalued) และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสดสภาพคล่องสูง เพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงในอนาคต โดยหุ้นในกองทุน B-VIETNAM มี PER ปี 2023 เฉลี่ยที่ 14.3 เท่า และ EPS growth ที่ 29%) ในส่วนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่กองทุนมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 15%-20% มีกลยุทธ์ Buy and Hold เน้นกระจายลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงหุ้นขนาดใหญ่ด้วย