IMF ชี้ “ธนาคารกลางยุโรป” ควรขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อฉุดเงินเฟ้อลดลง เรียกร้องรัฐบาลยูโรโซนลดการใช้จ่ายภาครัฐ

IMF ชี้ “ธนาคารกลางยุโรป” ควรขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อฉุดเงินเฟ้อลดลง เรียกร้องรัฐบาลยูโรโซนลดการใช้จ่ายภาครัฐ

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป เพื่อฉุดให้เงินเฟ้อลดลง และรัฐบาลในยูโรโซนควรลดยอดขาดดุลงบประมาณเพื่อช่วยลดเงินเฟ้ออีกแรงหนึ่ง ซึ่งการลดยอดขาดดุลงบประมาณจะช่วยบรรเทาแรงกดดันทางการคลังในภายหลังได้อีกด้วย

ทั้งนี้ IMF ระบุในรายงานพิจารณาเศรษฐกิจยูโรโซนว่า รัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ควรเร่งตกลงเรื่องการปฏิรูปกฎระเบียบทางการคลังและหนี้สินของ EU ซึ่งจะช่วยหนุนมูลค่าของเงินยูโร โดยปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างขั้นตอนของการปรึกษาหารือ

“ECB ต้องเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป เพื่อฉุดเงินเฟ้อกลับคืนสู่เป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม” IMF ระบุในรายงาน

ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีเมื่อวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) พร้อมระบุว่า เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่า ECB จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนหน้าและมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกหลังจากนั้น

รายงานระบุว่า ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ติดต่อกัน 8 ครั้ง นับตั้งแต่คำนวณทิศทางเงินเฟ้อผิดพลาดไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ปรับตัวขึ้นสู่ 3.5% แล้วในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2544

นอกจากนี้ IMF ได้เรียกร้องให้รัฐบาลในยูโรโซนลดการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อช่วย ECB ฉุดเงินเฟ้อลง เพราะเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นพอสมควรในปีนี้และปีหน้า แม้ว่าภาวะการเงินจะตึงตัวมากขึ้นก็ตาม

ที่มา: รอยเตอร์