BBLAM ESG Corner: Sustainability-Linked Bond ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (SLBs)

BBLAM ESG Corner: Sustainability-Linked Bond ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (SLBs)

โดย ณัฐกร พีรสุขประเสริฐ BBLAM

ในตลาดตราสารหนี้ หลายๆ คน คงคุ้นเคยกับคำว่า พันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) ซึ่งจำกัดวัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบัน มีตราสารหนี้รูปแบบใหม่เรียกว่า ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Bonds (SLBs) ซึ่งไม่ได้จำกัดวัตถุประสงค์ของการระดมทุนเหมือนกับ Green Bonds แต่กลับเปิดโอกาสให้ผู้ระดมทุนสามารถนำเงินลงทุนไปลงทุนกับโครงการใดๆ   ก็ได้ เพียงแต่คุณลักษณะบางประการของตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน อาทิ Coupon Rate จะเชื่อมโยงกับศักยภาพในการดำเนินงานของบริษัทด้านความยั่งยืน ซึ่งจะถูกประเมินด้วยตัวชี้วัด (KPIs) เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) และกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน โดยบริษัทที่ระดมทุนด้วยการออกขาย SLBs ครั้งแรกของโลกคือ บริษัท ENEL ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานสะอาดในภูมิภาคยุโรป ทำการออกขาย SLBs ในเดือนกันยายน ปี 2019

Sustainability-Linked Bond (SLBs) คือ เครื่องมือทางการเงินรูปแบบหนึ่งที่ใช้สำหรับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยมีเงื่อนไขของตราสารหนี้ (Indenture) ที่ยึดโยงอยู่กับความยั่งยืน (Sustainability) ณ ปี 2020 International Capital Market Association (ICMA) ได้ตีพิมพ์หลักการตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Bond Principles (SLBPs) โดยหลักการของ SLBPs จะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักๆ

  1. การเลือกตัวชี้วัด (Selection of Key Performance Indicators, KPIs)

ตัวชี้วัด (KPIs) จะสอดคล้องไปกับทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งบริษัทมีภาระผูกผันที่จะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดจะถูกระบุลงไปในเงื่อนไขของตราสารหนี้ ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีนั้นต้องสามารถวัดเป็นตัวเลขเชิงปริมาณ และสามารถตรวจสอบได้ ผู้ออกตราสารหนี้ควรจะสื่อสารกับนักลงทุนถึงเหตุผลของการเลือกตัวชี้วัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงนิยามและวัตถุประสงค์ของการเลือกตัวชี้วัดนั้นๆ  เช่น บริษัท  A   มีนโยบายการใช้พลังงานสะอาด  เพื่อจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ได้ออกขาย SLBs โดยกำหนดตัวชี้วัดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น  

  • การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Calibration of Sustainability Performance Targets, SPTs)

เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) เป็นการกำหนดเป้าหมายให้กับตัวชี้วัดที่ผู้ออกตราสารหนี้มีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะถูกระบุลงไปในเงื่อนไขของตราสารหนี้ การกำหนดเป้าหมายจะต้องมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านความยั่งยืน โดยมีเกณฑ์เปรียบเทียบที่สามารถอ้างอิงได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องไปกับนโยบายเชิงกลยุทธ์โดยภาพรวมของผู้ออกตราสารหนี้ รวมถึงจะต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดก่อนที่จะทำการออกขายตราสารหนี้ หากผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถปฏิบัติให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดจะมีบทลงโทษต่อผู้ออกตราสารหนี้ ผู้ออกตราสารหนี้ควรจะนำเสนอข้อมูลย้อนหลังที่เกี่ยวข้องกับระดับของตัวชี้วัดที่กำหนด และควรมีคำอธิบายที่เป็นการคาดการณ์ในอนาคตเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในอนาคตว่า บริษัทจะสามารถปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่กำหนดได้ เช่น บริษัท A ที่ได้กำหนดตัวชี้วัดเป็นสัดส่วนของการใช้พลังงานสะอาด ได้ระบุเป้าหมายว่า ภายใน 1 ปี จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด จากเดิมที่ 5% ไปเป็น 10% พลังงานที่ได้จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทเพิ่มการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงงาน เป็นต้น

  • คุณลักษณะของตราสารหนี้ (Bond Characteristics)

ลักษณะเฉพาะของตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน คือ การมีคุณลักษณะทางการเงินและโครงสร้างของตราสารหนี้ที่ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ตัวชี้วัด (KPIs) และการปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดได้หรือไม่ (SPTs) ฉะนั้น ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนจะต้องกำหนดผลกระทบด้านการเงิน และ/หรือด้านโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กำหนด (Trigger Event) ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอยู่ในรูปของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องพิจารณาลักษณะการเปลี่ยนแปลงด้านการเงิน และ/หรือโครงสร้างอื่นๆ ของตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้นด้วย เช่น บริษัท A ออกขาย SLBs โดยมีเงื่อนไขว่า ภายใน 1 ปี จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดอยู่ที่ 10% ของพลังงานที่ใช้ในการบริโภคทั้งหมด หากบริษัท A ไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ บริษัท A จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น 100 bps เป็นต้น

  • การรายงาน (Reporting)

ผู้ออกตราสารหนี้ควรที่จะเปิดเผยข้อมูลของการประเมินตามตัวชี้วัดให้สามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่าย ข้อมูลที่เปิดเผยควรจะเปิดเผยสม่ำเสมอเป็นช่วงๆ อย่างน้อยก็ควรจะเป็นการเปิดเผยรายปี เพื่อให้นักลงทุนได้นำไปใช้ประเมินถึงศักยภาพของทางผู้ออกตราสารหนี้ในการปฏิบัติตามตัวชี้วัดว่า สามารถที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มผลตอบแทนของผู้ถือตราสารหนี้

  • การยืนยัน (Verification)

ผู้ออกตราสารหนี้ควรที่จะมีบุคคลภายนอก (Third Party) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีความเป็นอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบการปฏิบัติตามตัวชี้วัดแต่ละตัวของทางผู้ออกตราสารหนี้ว่า เป็นไปตามที่กำหนดไว้จริงหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติ การตรวจสอบโดยบุคคลภายนอกควรที่จะกระทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

จะเห็นว่า หลักการตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Bonds Principles (SLBPs) ได้ให้แนวทางที่เกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างของตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน   ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (SLBs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น