BBLAM ESG Corner: ถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อเร่งขีดความสามารถของ ESG

BBLAM ESG Corner: ถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อเร่งขีดความสามารถของ ESG

โดย ณัฐพล ปรีชาวุฒิ BBLAM

เมื่อเรามองย้อนกลับไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แทบจะไม่มีใครเลยที่วิถีชีวิตไม่ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนไป เพราะวิกฤตการณ์นั้นได้บังคับให้พวกเราต้องปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายต่างๆ ซึ่งส่วนมากเหมือนจะปรับตัวกันได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การทำงานที่บ้าน (Work from Home) การประชุมงานกันผ่านวีดีโอคอล หรือแม้แต่การทำอาหารรับประทานกันเองที่บ้านแทนการออกไปร้านอาหารนอกบ้าน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change ถือเป็นวิกฤตระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขที่เร่งด่วนเช่นเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่า มนุษย์อย่างเราดูจะตอบสนองไม่เร็วเท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงควรถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโควิด-19 นำมาประยุกต์เพื่อเร่งกระบวนการการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศผ่านกระบวนการ ESG ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในที่นี้ เราได้ถอดบทเรียน 3 ข้อที่องค์กรแต่ละแห่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้และกระตุ้นกระบวนการส่งเสริม ESG ได้ดียิ่งขึ้น

บทเรียนข้อแรก เราพบว่า การแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเร็วกว่าที่หลายคนคิด โดยหลายองค์กรสามารถปรับวิธีการทำงานจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นการทำงานที่บ้านได้ภายในไม่กี่วัน หรือแม้กระทั่งเราได้เห็นการคิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส โดยใช้เวลาน้อยที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ที่ผ่านมา ถึงแม้เราจะเริ่มเห็นความตระหนักที่เพิ่มขึ้นต่อคุณค่าของความยั่งยืนผ่านองค์กรที่เข้าร่วมโครงการการลดการปล่อยคาร์บอนที่มากขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ บริษัท Shell ที่ล่าสุดได้ประกาศการเร่งตัวเข้าสู่บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero เช่นเดียวกับบริษัท AstraZeneca ที่เดินหน้าเร่งตั้งเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Emission) จากการดําเนินงานทั่วโลกภายในห้าปีจนถึงปี 2568 แต่เมื่อไม่นานมานี้ EcoAct ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านความยั่งยืนได้รายงานตัวเลขว่า ยังมีบริษัทน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ FTSE มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท Net-Zero ภายในปี 2593 และมีบริษัทน้อยกว่าร้อยละ 20 ที่มีแผนการลดคาร์บอนที่สมจริง สอดคล้องกับทาง ClientEarth ที่เปิดเผยว่า กว่าร้อยละ 90 ของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของ สหราชอาณาจักรไม่ได้คำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าเรามีขีดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าที่เราคิด นั่นจึงไม่ใช่ข้ออ้างที่องค์กรต่างๆ จะส่งต่อความยั่งยืนอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกต่อไป

ความคาดหวังของนักลงทุนก็ดูเปลี่ยนไปเช่นกัน ภายหลังเหตุการณ์โควิด-19 โดยเราได้เห็นนักลงทุน ทั้งฝั่งสถาบันและบุคคลมีความตื่นตัวต่อการลงทุนในเชิงความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีความคาดหวังต่อบริษัทจดทะเบียนในการตั้งเป้าหมายการเป็น Net-Zero ผ่านกระบวนการผลิตต่างๆ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก

บทเรียนที่สองที่เราได้จากโควิด-19 คือ การสื่อสารที่ชัดเจนมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก โดยมีการศึกษาประเทศอังกฤษระบุว่า ระดับความเชื่อมั่นของข่าวสารลดลงต่อเนื่องในช่วงการระบาดของโควิด-19  และที่น่าตกใจคือ ความเชื่อมั่นในการสื่อสารของรัฐบาล ลดลงอย่างมาก จากร้อยละ 67 ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2564 เป็นร้อยละ 40 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 โดยเหตุผลหลักมาจากความล้มเหลวของระบบการตรวจและติดตามโรคของรัฐบาลที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวเลขและการนำเสนอข่าวลดลงไป สอดคล้องกับประเทศออสเตรเลียที่มีผลสำรวจระบุว่า ประชาชนมีแนวโน้มที่จะทําตามคําแนะนําของรัฐบาลมากขึ้น หากพวกเขาเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของคำแนะนำนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น การสื่อสารที่รวดเร็วและชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้คนในสังคมต่างไม่ชอบความไม่แน่นอน เช่นเดียวกับนักลงทุนในตลาดการเงินที่พี่งพิงอยู่กับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็ต้องการความถูกต้องและชัดเจนของข้อมูล ซึ่งหากเรานำมาปรับใช้ในกระบวนการ ESG นั้น องค์กรต่างๆ เอง ก็ควรจะนำเสนอแผนงานการก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างมีกระบวนการชัดเจนและโปร่งใส พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนตลอดเวลา เพราะปัจจุบันเราอยู่ในยุคของการรับส่งข้อมูลแบบไดนามิก

และบทเรียนสุดท้ายที่เราอาจนำมาประยุกต์ใช้ใน ESG ได้ นั่นคือ เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาตัว ‘S’ หรือ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรให้มากขึ้น กล่าวคือ การก้าวผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ละองค์กรต้องอาศัยการพัฒนาของบุคลากรที่แข็งแรงขึ้นไปอีกขั้น ผ่านทางการให้การยอมรับในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อกันมากขึ้น เช่นเดียวกับ ESG ที่เราไม่อาจจะมุ่งเน้นไปที่ตัว ‘E’ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับตัว ‘S’ ด้วย ซึ่งอาจเชื่อมโยงกันในบริบทของความหลากลายทางชีวภาพ หรือการให้ความสำคัญต่อสุขภาพ เป็นต้น

อนึ่ง เหมือนกับการที่พวกเราร่วมกันแบกรับภาระในการแก้ปัญหาโควิด-19 กันอย่างเร่งด่วน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องจัดการเร่งด่วนเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางรัฐบาล บริษัทต่างๆ รวมถึงนักลงทุนจึงควรทำงานร่วมกันและเร่งขีดความสามารถในการต่อสู้กับความท้าทายที่สำคัญนี้