BBLAM Knowledge Tips: ถ้าออกจากงานแล้วที่ทำงานใหม่ไม่มี PVD ต้องทำยังไง

BBLAM Knowledge Tips: ถ้าออกจากงานแล้วที่ทำงานใหม่ไม่มี PVD ต้องทำยังไง

โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP® BBLAM

              หลายคนที่ทำงานออฟฟิศ แล้วได้รับสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้เราได้มีโอกาสสะสมเงินส่วนนึ้เข้ากองทุน และบริษัทก็สมทบเงินอีกส่วนนึงเข้ากองทุนให้ทุกๆ เดือน แต่แล้วจู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คิดฝัน ทำงานอดิเรกอยู่ดีๆ ก็รุ่งซะงั้น พลิกผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการไป หรือบางคนอยู่ๆ เพื่อนก็ชวนให้สมัครงานที่น่าสนใจ แล้วเขาก็รับเราเข้าร่วมงานด้วยทันที ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม หากที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วทีนี้จะทำยังไงกันล่ะ แนะนำแบบนี้ค่ะ

              วิธีแรก คือ เราสามารถคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมคงเงินปีละ 500 บาท วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปริมาณเงินสะสมค่อนข้างมาก และการเติบโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เราได้เลือกลงทุนแล้วที่ผ่านมา ผลตอบแทนค่อนข้างน่าพอใจ และมองว่า ในอนาคตสามารถเติบโตได้ตามที่เราคาดไว้ ก็สามารถคงเงินไว้ได้เลยค่ะ แต่สำหรับบางคนที่เพิ่งจะเริ่มสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ไม่เท่าไหร่ แต่ชีวิตผกผัน อาจจะเห็นว่า ค่าธรรมเนียมคงเงิน เป็นเงินจำนวนที่สูง ถ้าแบบนั้นก็เลือกวิธีที่ 2 ได้ค่ะ

              วิธีที่ 2 คือ โอนย้ายหน่วยลงทุนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยัง กองทุน RMF for PVD วิธีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่เราต้องหาบลจ.ที่มีกองทุนแบบนี้ และเลือกนโยบายที่ต้องการ

              ซึ่งทั้ง 2 วิธีดังกล่าว ช่วยให้เรามีเงินก้อนสำหรับเกษียณอายุในวันข้างหน้า ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลาในการคงเงินและการโอนย้ายมาลงทุนในกองทุน RMF for PVD นั้น จะต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมกับอายุการถือครองกองทุน RMF for PVD ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วยค่ะ

              ในส่วนของการสะสมเงินสำหรับเกษียณในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกิจส่วนตัวเองก็ดี หรือที่ทำงานใหม่ไม่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ก็ดี เราสามารถลงทุนด้วยตัวของเราเองได้ โดยการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งสามารถใช้สิทธิลงทุนได้สูงถึง 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลงทุนอื่นๆ ที่ลดภาษีได้เช่นกัน (กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) หากใครที่ไม่รู้จะลงทุนเท่าไหร่ ลองดูเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมที่เราเคยสะสมมาก็ได้ อย่างเช่น เราสะสมเต็มสิทธิ 15% นายจ้างสมทบ 15% เต็มสิทธิเลย เท่ากับว่า เมื่อก่อน เรามีเงินลงทุนสูงถึง 30% ดังนั้น แม้ว่าที่ทำงานใหม่จะไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วก็ตาม แต่เราก็สามารถสะสมเงินของเราเอง เพื่อตัวของเราเองในอนาคตได้โดยการลงทุนในกองทุนรวม RMF 30% ซึ่งเงินลงทุนส่วนนี้ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

              แต่ถ้าใครคิดว่าในอนาคต ช่วง 10 ปีข้างหน้า ต้องการใช้เงิน หรือมีเป้าหมายที่ต้องใช้เงิน ในระหว่างนี้ก็สามารถแบ่งเงินส่วนนึงมาลงทุนในกองทุนรวม SSF ได้ ซึ่งสามารถลงทุนได้สูงถึง 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งอีก 10 ปีเต็ม ก็สามารถทยอยขายคืนมาใช้ตามเป้าหมายได้เช่นกัน แต่ถ้าลงทุนในกองทุนรวม SSF ก็อย่าลืมว่า สิทธิที่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั้น ได้ถึงปี พ.ศ.2567 เท่านั้น หากปี 2568 ต้องการลงทุนต่อก็อาจเป็นการลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไป ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิทางภาษีแล้วนั่นเองค่ะ

              ส่วนใครที่ยังคิดๆ ว่า เอ๊ะ จะลงทุนได้สูงถึง 30% กันเลยมั้ยนะ หรือเงินจำนวนนี้สูงเกินไปหรือเปล่า ลองคิดง่ายๆ ค่ะว่า ระยะเวลาในการลงทุนของเราเหลืออีกกี่ปี แต่เงินที่เราต้องใช้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราต้องใช้จ่าย เราต้องใช้จ่ายไปตลอดชีวิตของเรา แถมตอนอายุเยอะๆ ค่ารักษาพยาบาลคงแพงขึ้นอีกมิใช่น้อย ดังนั้น การแบ่งเงิน 30% ในวันนี้ สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ไม่มากเกินไปหรอกค่ะ กลัวแต่ว่าหลังเกษียณไปแล้วจะมาพูดว่า “รู้งี้ ตอนนั้น ตอนนี้ อดออมเอาเงินไปลงทุนดีกว่า หลังเกษียณจะได้สบาย” เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าลงทุนน้อยๆ แล้วอนาคตจะสบายได้ ต้องยอมลำบากในตอนที่ลำบากได้ แล้วสบายในตอนที่เราลำบากไม่ไหว ดีกว่าค่ะ