IMF ห่วงศก.เอเชียทรุดหนัก แนะธ.กลางชะลอลดดบ.หวั่นเงินเฟ้อยังพุ่ง

IMF ห่วงศก.เอเชียทรุดหนัก แนะธ.กลางชะลอลดดบ.หวั่นเงินเฟ้อยังพุ่ง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้เศรษฐกิจเอเชียกระทบหนัก หลังเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ชี้ธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ไม่ควรเร่งปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะชาติในทวีปเอเชีย แม้อัตราเงินเฟ้อของเอเชียจะอยู่ในระดับปานกลางเร็ว แต่ธนาคารกลางชาติต่างๆ ก็ไม่ควรเร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง และธนาคารกลางควรใช้แนวทางดังกล่าวต่อไป เนื่องจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่อาจผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนลง เหลือ 0.7% ในปี 2566 และ 1.2% ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ก.ค.ที่ 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดว่า การที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวซบเซาประกอบกับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเติบโตอย่างรวดเร็ว  โดยกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ค้าขายกับจีนอย่างใกล้ชิด จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนที่กลับมาคึกคักหลังผ่านพ้นช่วงมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ได้สูญเสียแรงผลักดันเร็วกว่าที่คาดการณ์

ขณะที่ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ช่วยเอเชียได้มากเท่าไหร่นัก เพราะสหรัฐฯ ให้ความสนใจโดยมุ่งเน้นไปที่ภาคบริการมากกว่า พร้อมกันนี้ จากการที่สภาวะทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลกมีความเข้มงวดมากขึ้น อาจทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชีย ทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลงด้วย โดยก่อนหน้านี้ ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก IMF ได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% เหลือ 2.9%

ทั้งนี้ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ขึ้นอีก 0.3% เป็น 2.1% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้น 0.5% เป็น 1.5% ในปี 2567 โดยอ้างอิงถึงการลงทุนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียว ที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทางตรงกันข้าม ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของจีน คาดว่าจะขยายตัว 5.0% ในปี 2566 และ 4.2% ในปี 2567 ซึ่งปรับลดจากตัวเลขคาดการณ์เดิมลง 0.2% และ 0.3% ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของประเทศและอุปสงค์จากภายนอกที่อ่อนแอ

“ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญกับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน มีแนวโน้มที่จะแผ่ขยายไปยังภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ค้าขายกับจีนอย่างใกล้ชิด จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ” IMF ระบุ

ที่มา: รอยเตอร์