BBLAM Knowledge Tips: รู้จัก Credit Rating ทำไมต้องจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

BBLAM Knowledge Tips: รู้จัก Credit Rating ทำไมต้องจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM BBLAM

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ จำเป็นต้องมีความเข้าใจเรื่องการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เพราะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นตัวช่วยสำคัญในการพิจารณาว่า เราควรที่จะเลือกลงทุนในตราสารหนี้นั้นหรือไม่? โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนี้ จัดทำขึ้นโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (CRA: Credit Rating Agency) ซึ่งปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ของไทย ให้ความเห็นชอบอยู่ 2 สถาบัน ได้แก่ TRIS (TRIS Rating Co., Ltd) และ Fitch (Fitch Ratings (Thailand) Ltd.) ในขณะที่ ระดับสากลทั่วโลกจะยอมรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก 3 สถาบัน ได้แก่ Fitch Rating, Moody’s Investor Service และ Standard and Poor’s

ประโยชน์ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) นั้น ก็เพื่อเป็นการประเมินว่า ตราสารหนี้ที่นำเสนอขายอยู่นั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? ในการที่จะผิดนัดชำระหนี้ โดยสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะพิจารณาจากข้อมูลของผู้ออกตราสาร ดังต่อไปนี้ 1. การจัดการและผลการดำเนินงาน เช่น ผลกำไรขาดทุน ความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ โครงสร้างการบริหาร รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ  2. ฐานะทางการเงิน เช่น การหมุนเวียนของกระแสเงินสด โครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สิน ตลอดจนเงินสดและเงินทุนสำรองด้วย 3. ขนาดของธุรกิจหรือองค์กร  โดยพิจารณาจากขนาดของทุนจดทะเบียน สินทรัพย์รวม แรงงาน และการจ้างงาน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมั่นคงของธุรกิจ และ 4. ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจ หรือองค์กร ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แวดล้อม อย่างในปัจจุบัน ก็เช่น  ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และโอกาสในการเติบโตตามเทรนด์โลก เป็นต้น

สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (CRA: Credit Rating Agency) ได้นำข้อมูลต่างๆ นี้ มาคิด วิเคราะห์ ประมวลผล และประเมินออกมาเป็นเกรด โดยเกรดที่ว่านี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ Investment Grade คือตราสารหนี้ที่สามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ เพราะมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ไม่มาก และ Non-Investment Grade (หรืออีกชื่อคือ Speculative Grade) คือตราสารหนี้ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เพราะมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ที่ว่านี้ ก็มีตั้งแต่ชำระล่าช้า ชำระไม่ครบตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรืออาจจะไปไกลถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้เลย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้ทั้งนั้น

โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในแต่ละกลุ่ม ก็จะมีรายละเอียดของเกรดที่ได้รับแตกต่างกันไปอีกด้วย คล้ายกับผลการเรียนเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างกลุ่ม Investment Grade ก็จะมีตั้งแต่  AAA+ คือความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้น้อยที่สุด ค่อยๆ ลดหลั่นลงไปเป็น  AA+,  AA,  AA-  ไปจนถึง BBB- จากนั้นตั้งแต่  BB+ ไล่ลงไปก็จะจัดอยู่ในกลุ่ม Non-Investment Grade คือ มีโอกาสที่ผู้ออกตราสารหนี้จะผิดนัดชำระหนี้ได้ ไปจนถึงเกรด D คือ Default ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้นั่นเอง

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จึงเป็นส่วนสำคัญ ในการที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถประเมินถึงความเสี่ยงของตราสารหนี้ได้ในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นเพียงการใช้ข้อมูลทางการเงินต่างๆ ของผู้ออกตราสารหนี้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง มารวบรวมและประเมินผลโดยไม่ได้เป็นการพยากรณ์ หรือ   การันตีอนาคตถึงความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นตลอดไป หมายความว่า ตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับดีๆ ในตอนนี้ หากมีสถานการณ์บางอย่างส่งผลทางลบต่อธุรกิจ หรือองค์กร ก็อาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้ ในขณะที่ ตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน  Investment Grade ในตอนนี้ ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่า ตราสารหนี้นั้นไม่ดี ไม่สมควรลงทุน เพราะมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันว่า ในขณะที่รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่นั้น ธุรกิจ หรือองค์กรของผู้ออกตราสารหนี้ อาจอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขยายโอกาสทางธุรกิจ เพื่อรับโอกาสเติบโตจากเทรนด์อนาคตที่กำลังมา แบบนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ลงทุนควรทำคือ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้ โดยอาจจะต้องเปรียบเทียบถึงความเสี่ยง และโอกาสในการลงทุนไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนตามเป้าหมายให้กับตัวเอง เพราะแนวคิดที่ว่า High Risk, High (Expected) Return นั้น สามารถใช้ได้จริงกับการลงทุนในตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ปัจจุบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ยังได้นำไปใช้ประเมินความเสี่ยงของประเทศต่างๆ ด้วย โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุน และสภาวะเศรษฐกิจเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ การขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพของค่าเงิน ฐานะการคลัง ความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ภาระหนี้สิน ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศด้วยเช่นกัน