นักวิเคราะห์ชี้ เจอโรม พาวเวล ส่งสัญญาณพร้อมหนุนตลาดแรงงาน แม้ส่งผลเงินเฟ้อยืดเยื้อสักระยะ

นักวิเคราะห์ชี้ เจอโรม พาวเวล ส่งสัญญาณพร้อมหนุนตลาดแรงงาน แม้ส่งผลเงินเฟ้อยืดเยื้อสักระยะ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงในปี 2565 ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างจนส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าพุ่งสูงมากเกินไป จนถึงปัจจุบัน พบว่า อัตราว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น แต่เฟดก็ได้เริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลดคนงานออกมากจนเกินไป แม้จะนำไปสู่การเกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อยไปอีกสักระยะก็ตาม

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวในช่วงแถลงข่าวหลังการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันพุธที่แล้ว โดยประกาศว่า อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกิดคาดของสหรัฐฯ อาจกระตุ้นให้เฟดพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย และย้ำถึงประเด็นนี้หลายครั้งในการตอบคำถามสื่อมวลชน

ประธานเฟด กล่าวหลังการประชุมนโยบายการเงินเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “แม้เฟดจะต้องการรอให้แน่ใจว่า การต่อสู้กับเงินเฟ้อประสบความสำเร็จก่อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ย แต่หากมีสัญญาณความอ่อนแอเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในตลาดแรงงานก็อาจเป็นเหตุผลให้เฟดใช้มาตรการตอบสนองทางนโยบายได้เช่นกัน”

นายเจอโรม กล่าวว่า เขายังไม่เห็นสัญญาณความเปราะบางใดๆ ในตลาดแรงงานขณะนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนกลับลดมุมมองบวกลง โดยชี้ให้เห็นว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลายรัฐ รวมไปถึงการลดจำนวนพนักงานชั่วคราวและชั่วโมงการทำงานลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี นายเจอโรมและคณะกรรมการ FOMC ยังคงเฝ้าจับตาตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจอ่อนแอลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากในอดีตนั้น เมื่ออัตราการว่างงานเริ่มสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะบริษัทต่างๆ พากันประกาศปรับลดพนักงานตามๆ กัน

ท่าทีของนายเจอโรมดูเหมือนจะพยายามเร่งกระบวนการลดอัตราดอกเบี้ยให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยยังคงยืนหยัดถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากตลาดแรงงานอ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้

เวนดี เอเดลเบิร์ก (Wendy Edelberg) อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดและผู้อำนวยการโครงการแฮมิลตัน สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) กล่าวว่า “วิธีดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงไม่ให้อัตราการว่างงานส่งผลกระทบต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ย”

อย่างไรก็ดี นายเจอโรมอาจพิจารณาทางเลือกอื่นในการผ่อนคลายต้นทุนการกู้ยืมลง เพราะอัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ของเฟด ดังนั้น เฟดจึงไม่จำเป็นต้องเข้มงวดกับตลาดแรงงานเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่สามารถเลือกที่จะเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อยต่อไปอีกไม่กี่ปีแทน

ที่มา: บลูมเบิร์ก