5 เทคโนโลยีพลิกโฉมวงการก่อสร้าง

5 เทคโนโลยีพลิกโฉมวงการก่อสร้าง

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาท้าทายที่ทุกภาคธุรกิจพบเจอในยุคนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาต้องมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เพราะคนไทยที่ทำงานในภาคนี้มีไม่เพียงพอ การมองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ

เมื่อไม่นานมานี้ www.weforum.org ได้นำเสนอ 5 เทคโนโลยีที่น่าสนใจ ที่คาดว่าจะมาเปลี่ยนวงการก่อสร้างของโลก ได้แก่

1.โดรน (Drones)

โดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้กับงานก่อสร้างได้ ในโครงการก่อสร้างที่ใช้ดิจิทัล ซึ่งโดรนจะช่วยให้เกิดความแม่นยำในการทำงานได้สูงขึ้น ลดความผิดพลาดอันเป็นต้นเหตุของการก่อสร้างล่าช้าหรือทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

Shakti Shaligram นักออกแบบของ seymourpowell กล่าวว่า โดรนสามารถเพิ่มความรวดเร็ว ความแม่นยำ และมาตรฐานความปลอดภัย ให้กับงานก่อสร้างดานต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันโดรนยังเก็บสะสมข้อมูลของไซต์งานได้จากการบินขึ้นไปด้านบนแล้วถ่ายภาพความละเอียดสูง โดยช่างภาพที่มีความชำนาญสามารถจะดึงข้อมูลในภาพที่มีคุณภาพสูงแล้วมาจำลองเป็นภาพ 3 มิติได้

จากความสามารถเหล่านี้จะช่วยลดความผิดพลาด และยังลดระยะเวลาในการก่อสร้างจากเป็นเดือนหลือแค่ไม่กี่วันได้ หรืออาจจะใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงด้วยซ้ำในบางกรณี

ยิ่งถ้าในอนาคตโดรนมาราคาถูกลงและฉลาดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีประโยชน์กับวงการก่อสร้างมากขึ้นเท่านั้น

2.การพิมพ์ 3 มิติ (3D printing)

เมื่อเดือน เม.ย. องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา ได้ประกาศว่าจะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติกว่า 100 เครื่องสร้างยานอวกาศ Orion เพื่อปฏิบัติภารกิจไปสำรวจดวงจันทร์ในปีหน้า รวมทั้งไปยังดาวอื่นๆ ด้วย ขณะที่บนโลกใบนี้ มีอาคารที่ก่อสร้างโดยใช้การพิมพ์ 3 มิติสำเร็จเมื่อเดือน ธ.ค. 2017

การก่อสร้างด้วยวิธีการพิมพ์ 3 มิตินั้น ตอบโจทย์เรื่องการก่อสร้างตามความต้องการ (Building on demand : BOD) มีประโยชน์ในการลดต้นทุนการก่อสร้าง และยังช่วยฝังเซ็นเซอร์ไร้สายต่าง ไว้ในผนังของห้องชุดได้ด้วย จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้อาคารที่สร้างนั้นกลายเป็นอาคารอัจฉริยะอย่างแท้จริงได้

3.เทคโนโลยีแบบจำลองข้อมูลอาคาร (Building Information Modelling : BIM)

การควบคุมต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญที่โครงการก่อสร้างต่างๆ คำนึงถึง ซึ่งเทคโนโลยีแบบจำลองข้อมูลอาคาร หรือ BIM เข้ามาช่วยได้ โดยจะเข้าไปช่วยในกระบวนการสร้างและจัดการเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของอาคาร

Jonathan Hunter ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Elecosoft บริษัทก่อสร้างดิจิทัล ระบุว่า ผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทก่อสร้างขนาดกลาง และผู้สร้างบ้าน สามารถนำ BIM มาปรับใช้ได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มเหล่านี้มีต้นทุนไม่แพง จึงเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ข้อมูลในอนาคตที่ BIM เก็บได้จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนการคาดการณ์และบริหารจัดการระยะเวลาในการก่อสร้างได้ดียิ่งขึ้น

BIM นั้น จะวางขั้นตอนให้ตั้งแต่การดำเนินการก่อสร้างไปจนถึงการบำรุงรักษาอาคาร พร้อมช่วยบันทึกข้อมูลที่ทำให้ผู้ที่บริหารจัดการอาคารนั้นทราบได้ว่า อุปกรณ์ในแต่ละส่วนติดตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ มีใบรับรองระยะเวลาการดูแลแค่ไหน

4.อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart devices)

Lee Penson ผู้ก่อตั้ง Penson บริษัทสถาปัตยกรรมเชิงพาณิชย์ที่เน้นเรื่องนวัตกรรม และอยู่เบื้องหลังการก่อสร้างสำนักงานกูเกิล ระบุว่า เทคโนโลยีจะช่วยมาปลดล็อคศักยภาพที่มีอยู่และทำให้คุณเป็นอิสระได้ แต่คุณก็ต้องมุ่งมั่นที่จะทำงานกับมันเช่นกัน ซึ่งตัวเขาเองเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของการนำอุปกรณ์อัจฉริยะมาใช้กับการก่อสร้าง

ตัวอย่างของการใช้ ได้แก่ การตรวจสอบงานเพื่อการปรับปรุงครั้งสุดท้ายหรือการแก้ไขความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่พบเจอ หากดำเนินงานโดยปกติอาจจะใช้ระยะเวลามาก แต่จากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์มือถือขึ้นมา ก็ช่วยให้ทุกอย่างเร็วขึ้นด้วยการใส่ข้อมูลทั้งหมดลงไปในนั้น โดยข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บในรูปแบบที่ไม่ใช้กระดาษเลย ดังนั้นจึงแน่ใจได้ว่าจะไม่มีข้อมูลส่วนไหนที่สูญหายไปเลย ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้สามารถหยิบมาอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในไซต์งานก่อสร้างหรือในสำนักงาน

5.เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual reality : VR)

ในงานสถาปัตยกรรม ผู้ขายบ้าน ผู้จัดการโครงการ หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ จะได้ประโยชน์จากการจำลองภาพของโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการใกล้เสร็จแล้วขึ้นมา นำเสนอด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน โดย Geoff Sutton ประธาน Spinview Global ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการ VR กล่าวว่า VR ช่วยสร้างโอกาสมหาศาลให้กับธุรกิจ เข้าไปพลิกโฉมวงการอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างของโลก

ยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น ก็คือ ตัวแทนจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์สามารถทัวร์ชมอสังหาริมทรัพย์ได้หลายๆ โครงการในเวลาไม่นานด้วยการสวมเครื่อง VR ไว้บนศีรษะ ไม่เพียงเท่านี้ยังใช้แบบจำลองที่มีอยู่โปรแกรมเปลี่ยนสี การออกแบบ หรือการตกแต่งภายในได้โดยไม่จำเป็นต้องไปถึงตัวโครงการจริง

จากตัวอย่างเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ ที่ผ่านมาในประเทศไทยก็มีบริษัทที่นำมาทดลองใช้แล้ว หรือเริ่มมีการพัฒนาขึ้นมา และหากในอนาคตถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็คงจะช่วยลดทอนปัญหาขาดแคลนแรงงานที่พบเจอได้มาก รวมทั้งลดต้นทุนได้ดีด้วย ส่วนจะได้รับความนิยมมากแค่ไหน คงต้องย้อนกลับไปที่ตัวผู้บริโภคด้วยว่า พร้อมเปิดใจยอมรับโครงการที่ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีมากขนาดไหน

ที่มา : https://www.weforum.org/agenda/2018/07/five-technologies-changing-construction