สภาพคล่องสำคัญอย่างไรกับชีวิต

สภาพคล่องสำคัญอย่างไรกับชีวิต

 

กดเพื่อรับชมวิดีโอ

สภาพคล่องสำคัญอย่างไรกับชีวิต

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

สภาพคล่องคืออะไร ใครหลายคนอาจสงสัย ที่จริงแล้วสภาพคล่อง ก็คือ ความสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ให้เป็นเงินสดได้โดยไม่เสียมูลค่ามาก หรือจะพูดง่ายๆ คือ สิ่งที่เราต้องการแปลงเป็นเงินสดได้ง่ายๆ แล้วนำมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยนาน อย่างเช่น เงินสด หรือเงินฝากในธนาคารที่สามารถถอนได้ทันที หรือจะเป็นกองทุนรวม หุ้นรายตัว ที่สามารถขายคืนได้ทุกวันทำการ ยิ่งได้เงินเร็ว ยิ่งมีสภาพคล่องสูง

คำถามคือต้องมีสภาพคล่องเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ แต่ละคนมีสภาพคล่องมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของตนเอง หรือของครอบครัว เช่น

คนโสด ไม่มีภาระ อาจต้องการสภาพคล่องไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่จะมีไว้เป็นจำนวนเท่าของค่าใช้จ่าย เช่น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีสภาพคล่อง 60,000 บาท

คนโสด เหมือนกัน แต่ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่สูงอายุ จำเป็นต้องมีสภาพคล่องสูงกว่าคนโสดไม่มีภาระ เพราะหากต้องการเงินมาใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ไม่คาดคิด เช่น คุณพ่อต้องรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ก็จำเป็นต้องมีสภาพคล่องมากขึ้น เช่น 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว ครอบครัวนี้ใช้จ่ายเดือนละ 40,000 บาท ก็ควรมีสภาพคล่อง 240,000 บาท

ขณะที่คนมีคู่ แต่ยังไม่มีภาระ อาจกันเงินสภาพคล่อง ไว้ 4-5 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ส่วนคนมีคู่แต่มีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ก็อาจกันสภาพคล่องให้สูงกว่าคนมีคู่แต่ไม่มีภาระ

คราวนี้ถ้าเกิดมีสภาพคล่องไม่พอจะต้องทำอย่างไร เริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการค่อยๆ สะสมจากเงินออมในแต่ละเดือน โดยสะสมสภาพคล่องให้ได้ในปริมาณที่ต้องการก่อน หากเพียงพอแล้วจึงนำไปต่อยอดด้วยการลงทุน

ระหว่างทาง หากออมเพื่อกันเป็นสภาพคล่องไม่ทัน เรียกง่ายๆ ว่าฉุกเฉินแล้ว ต้องใช้เงินตอนนี้ มีวิธีอื่นๆ ไหม อย่างแรกต้องมองหาว่าเรามีเงินเก็บไว้ตรงไหนบ้าง เช่น ลองดูกระปุกออมสิน หรือกระเป๋าสตางค์ที่เราแอบเก็บเอาไว้ บางทีแอบเก็บไว้นานจนลืมก็สามารถเอามาใช้ในยามที่ต้องการได้ หรือจะลองดูทรัพย์สินในบ้านที่มี เช่น กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า ถ้าสามารถขายหรือแปลงเป็นเงินสดได้และไม่เสียใจภายหลัง ก็ขายออกไป เพราะจะได้ไม่ต้องติดหนี้ใคร เป็นการขายทรัพย์สินของเราที่มีอยู่

แต่ถ้าขายหมดแล้ว แต่ยังไม่พอ ก็ต้องดูว่า มีญาติสนิทที่สามารถขอหยิบยืมได้ไหม หากยืมได้ให้ยืมจากญาติก่อน แต่ไม่ควรยืมบ่อย และไม่ควรคืนเงินช้า ถ้าเรามีความสามารถในการเก็บออมเงินได้ให้รีบคืนทันที ไม่อย่างนั้นแล้วอาจทำให้เสียประวัติ ญาติอาจเลิกคบได้ หรือจะมองหาหยิบยืมจากคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนสนิทที่เราไว้ใจได้ และการยืมเพื่อนต้องไม่ทำให้เขาเดือดร้อน ที่สำคัญเมื่อมีต้องรีบคืน อย่าติดหนี้เพื่อนนาน เดี๋ยวเพื่อนจะเลิกคบอีก

วิธีข้างต้นอาจไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าไม่มีใครให้หยิบยืม ก็อาจจะต้องมองหาวิธีอื่น ที่ต้องเสียดอกเบี้ย และต้องดูว่าเรามีสินทรัพย์ค้ำประกันไหม ถ้ามีก็จะเสียดอกเบี้ยที่ถูกหน่อย แต่ถ้าไม่มีก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงหน่อย อย่างเช่น บ้านที่หมดภาระผ่อน หรือผ่อนมานาน ก็สามารถติดต่อธนาคารกู้เงินบางส่วนออกมาใช้ใหม่ได้

ในกรณีที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ก็จะเป็นการใช้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือการกดเงินจากบัตรกดเงินสด/บัตรเครดิต วิธีนี้จะเสียดอกเบี้ยค่อนข้างสูง หากจำเป็นจริงๆ ค่อยคิดถึง แต่ถ้าไม่จำเป็น พยายามอย่าได้คิดใช้หนทางนี้

ส่วนใครที่มีสภาพคล่องล้นก็ควรพิจารณานำส่วนเกินไปลงทุน ในสินทรัพย์ที่เหมาะกับตัวเอง (เลือกจากความเสี่ยง) เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนในอนาคต เช่น การลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น