ใส่ใจสักนิด…กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ใส่ใจสักนิด…กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ใส่ใจสักนิด…กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

เมื่อกล่าวถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)” เชื่อว่าพนักงานออฟฟิศหลายๆ คนคงรู้จักเป็นอย่างดีหรือไม่ก็น่าจะพอคุ้นหูกันมาบ้าง เพราะปัจจุบันหลายบริษัทได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อสนับสนุนให้พนักงานมีเงินใช้ในวัยเกษียณ จึงเลือกใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาช่วยบริหารจัดการเงินให้ แต่ประเด็นคือ ยังมีพนักงานอยู่ส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทราบแต่ว่าทุกครั้งที่เงินเดือนออกจะถูกหักเอาไว้ก่อน คิดแล้วก็ตงิดๆ ในหัวใจ งินเดือนออกทั้งที อยากเอาไปใช้จ่ายเต็มๆ แต่โดนหักไปเสียก่อนทุกครั้ง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น (คณะกรรมการกองทุนฯ) โดยเงินของกองทุนมาจาก “เงินที่ลูกจ้างจ่าย เรียกว่า เงินสะสม”  และ “เงินที่นายจ้างจ่าย เรียกว่า เงินสมทบ” เงินทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำไปบริหารจัดการภายใต้กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพตามนโยบายลงทุนที่คณะกรรมการกองทุนฯ เลือก ซึ่งนโยบายการลงทุนที่คณะกรรมการกองทุนฯ เลือกให้ ส่วนใหญ่เน้นที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะคณะกรรมการกองทุนฯ ห่วงใยในเงินลงทุนว่าจะรับความเสี่ยงมากเกินไป รวมถึงเกรงว่า พนักงานบางส่วนอาจไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการลงทุน แต่ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งได้เปิดโอกาสให้ลูกจ้าง สามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไป

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund จึงมีความสำคัญมากในการช่วยให้มีวินัยทางการเงินนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำงานจนถึงวันเกษียณด้วยการหักเก็บก่อนใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดให้ลูกจ้างสามารถส่งเงินสะสมได้ในสัดส่วนที่มากกว่านายจ้าง แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับกองทุนคือ ไม่ต่ำกว่า 2% และสูงสุดไม่เกิน 15% และนอกจากจะหักเก็บในส่วนของตัวเองแล้ว นายจ้างยังช่วยสมทบให้ในแต่ละเดือนอีกด้วย โดยเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ (ส่วนมากเปอร์เซ็นต์การส่งเงินสมทบจะมากขึ้นตามอายุงาน)

เงินจำนวนนี้อาจยังไม่สำคัญเท่าไรในตอนหนุ่มสาว แต่เชื่อเถอะว่าจะมีความสำคัญมากในวันที่เกษียณ หากลองคิดดูว่า เราเริ่มต้นทำงานเมื่ออายุ 25 ปี เกษียณอายุ 55 ปี เท่ากับมีระยะทำงาน 30 ปี เงินเดือน 20,000 บาท ปรับขึ้น 5% ต่อปี ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% ของเงินเดือน บริษัทสมทบให้ 3% เท่ากัน ณ วันเกษียณจะมีเงินประมาณ 1 ล้านบาท (ยังไม่ได้ลงทุนอะไรเลย)

ถ้าหากรวมดอกผลจากการลงทุนเข้าไปเพิ่มเติมด้วย มูลค่าเงินก็น่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ เพราะเงินที่นำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นไม่ใช่เงินออมทรัพย์ แต่เป็นเงินลงทุนในกองทุนรวม ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนในตราสารหนี้ผลตอบแทน 2% ต่อปี  เมื่ออายุครบ 55 ปี เงินลงทุนนี้จะเติบโตเป็น 1.22 ล้านบาท หากปรับพอร์ตการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทน 5% ต่อปี เงินลงทุนนี้จะเติบโตเป็น 2 ล้านบาทได้ไม่ยาก

การใส่ใจในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เนื่องจากเงินลงทุนก้อนนี้สำคัญมากเพราะเป็นเป้าหมายเพื่อการเกษียณ อีกทั้งยังเป็นเงินลงทุนระยะยาว หากบริหารจัดการได้ดีก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างเหมาะสม โดยสิ่งที่อยากให้ทุกคนลงมือทำคือ ลองศึกษากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองว่า มีนโยบายลงทุนอย่างไร? สอดคล้องกับความต้องการของเราในเรื่องความเสี่ยงหรือผลตอบหรือไม่? ถ้าไม่ตรงกับความต้องการของเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม? บริษัทเปิดให้พนักงานสามารถเลือกนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Employee Choice) ได้หรือเปล่า?

หากไม่มีอะไรสอดคล้องกับความต้องการของเราเลย  สิ่งที่พอจะทำได้คือ รวมตัวกันเพื่อบอกความต้องการไปยังคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าต้องการมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติม โดยระหว่างที่รอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนได้หรือไม่? ก็ยังคงต้องหักเงินสะสมกันต่อไป เพราะเรื่องนี้ตามใจเราแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องเคารพการตัดสินใจของบริษัทด้วย

หากผลการพิจารณาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทางเลือกของเรา คือ ไม่เพิ่มสัดส่วนการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติม แต่นำเงินที่ตั้งใจจะลงทุนเพื่อการเกษียณไปลงทุนเองต่างหาก โดยอาจเลือกนำไปลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไป หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยก็ได้ โดยสิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้คือ การมีวินัยในการลงทุน

สำหรับพนักงานออฟฟิศ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)  เป็นช่องทางลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่งทางการเงินที่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ และนับว่าเป็นสวัสดิการจากบริษัทที่ควรนำมาพิจารณา แต่สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถวางแผนลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้เช่นกัน โดยศึกษาข้อมูลการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรืออาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพช่วยบริหารจัดการให้ เริ่มต้นลงทุนง่าย และไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ต้องมีวินัยในการลงทุนและลงมือทำ