กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน (B-ASEAN) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASEANRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน (B-ASEAN) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASEANRMF)

สรุปภาวะตลาดหุ้นอาเซียนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2019

ดัชนี MSCI AC ASEAN Index ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปลายเดือน เม.ย. กลับมาปรับตัวขึ้นได้ถึง 7.7% จากปี 2018 ที่ปรับลดไปถึง 11% นำโดยตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 11% จากความหวังว่าภาวะสงครามการค้าจะผ่อนคลายลงและจะลดทอนผลกระทบที่มีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของสิงคโปร์ได้ ประกอบกับการที่หุ้นกุล่มธนาคารสามารถสร้าง ผลประกอบการออกมาได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดหุ้นมาเลเซียเป็นตลาดที่ปรับลดลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียโดยปรับตัวลง 3% ด้วยผลกระทบจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดของภาครัฐบาล และภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่เดือน พ.ค. ตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนต้องเผชิญแรงกดดันอีกครั้ง หลังจากภาวะสงครามการค้าที่เริ่มส่อแววปะทุขึ้นอีกครั้งและอาจยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์กันก่อนหน้า ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลถึง Sentiment ของตลาดการเงินโดยรวมเท่านั้น แต่อาจส่งผลลบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของภูมิภาคอีกด้วย อีกทั้งยังมีปัจจัยเฉพาะประเทศเข้ามากดดัน เช่น อินโดนีเซียที่เกิดการประท้วงภายในกรุงจาการ์ตาหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งจนทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือไทยที่การจัดตั้งรัฐบาลยังคงไม่ลงตัวแม้จะผ่านพ้นการเลือกตั้งมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว

ทั้งนี้ในแง่ของกระแสเงินทุน ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับกระแสเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี ด้วยปัจจัยกดดันทางด้านบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเป็นอย่างมากและอย่างต่อเนื่องเริ่มคลี่คลายลง รวมถึงการที่ตลาดหุ้นปรับลดระดับลงมาดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน ขณะที่ มาเลเซียยังคงเผชิญกับเงินทุนไหลออกจากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่แย่ลงจากการรัดเข็มขัดทางการคลังของรัฐบาล

มุมมองของกองทุนบัวหลวงต่อเศรษฐกิจอาเซียนแบ่งตามรายประเทศ

อินโดนีเซีย หลังจากที่ธนาคารกลาง (BI: Bank Indonesia) ขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปี 2018 เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออกและบรรเทาการอ่อนค่าของค่าเงินรูเปียห์ (IDR) แต่พอก้าวเข้าสู่ปีนี้ ธนาคารกลางมีท่าทีผ่อนคลายทางนโยบาย ด้วยคาดว่าที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยมีการบริโภคภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่สำคัญ รวมถึงการที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ และค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อนึ่งแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกสถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับตัวดีขึ้นมากจากช่วงปีก่อนหน้า แต่การขาดดุลการค้าที่เร่งตัวขึ้นในเดือน เม.ย. ยังคงเป็นประเด็นที่ควรจับตามอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเฉกเช่นในปี 2018 ด้วยระดับราคาน้ำมันที่ไม่เร่งตัวขึ้นและค่าเงิน IDR ที่ยังยืนระดับอยู่ได้

มาเลเซีย การบริโภคในประเทศยังมีโมเมนตัมการเติบโตต่อเนื่อง โดยที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การอุดหนุนราคาน้ำมัน และนโยบายการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่การลงทุนภาครัฐบาลน่าจะยังคงชะลอตัวต่อ และด้วยแรงกดดันทั้งจากปัจจัยในและต่างประเทศทำให้ขณะที่ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM: Bank Negara Malaysia) ปรับลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 3% และยังคงส่งสัญญาณดำเนินนโยบายแบบระมัดระวังต่อไป

ฟิลิปปินส์ การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาไม่สามารถอนุมัติงบประมาณประจำปี 2019 ได้ ทำให้การเบิกจ่ายของภาครัฐบาลและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องชะงัก อย่างไรก็ตามกองทุนบัวหลวงมองว่า ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นจากการอนุติงบประมาณจำปี 2019 ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 13% จากปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการก่อสร้างและการจ้างงานในระยะถัดไป

สิงคโปร์ ในปีนี้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะยังคงเติบโตได้จากอุปสงค์ในประเทศที่ทรงตัวท่ามกลางตลาดแรงงานที่ค่อยๆฟื้นตัวและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยไต่ราคาขึ้น อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของสิงคโปร์ และภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากภาวะวัฎจักรอุสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมาภาคการผลิตของสิงคโปร์หดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ไตรมาส

ไทย การส่งออกที่หดตัวลงแรงประกอบกับการลงทุนที่ชะลอตัวลงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2019 เติบโตได้เพียง 2.8% เมื่อเทียบรายปี โดยคาดว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะถัดไปจะยังคงมาจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐจากการเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทว่าปัจจัยภายนอกประเทศจะยังคงไม่เอื้อต่อภาวะการส่งออก โดยกองทุนบัวหลวงอาจมีการปรับลดประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ลงอีกจากปัจจุบันที่คาดไว้ที่ 3.6%

เวียดนาม มองว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการสงครามการค้า ซึ่งทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ผนวกกับการลงทุนภาครัฐบาลที่เร่งตัว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจเวียดนาม อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความเสี่ยงหลักของเวียดนามที่ควรติดตาม ได้แก่ ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นจนมีแนวโน้มทะลุ 65% ต่อ GDP บวกกับการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

ปัจจัยบวกและลบที่คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นอาเซียนในช่วงที่เหลือของปี 2019

(+) สัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการดำเนินนโยบายการเงินแบบรัดกุม (Tightening Monetary Policy) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลล่าร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงอาเซียน

(+) ราคาน้ำมันโลกที่ลดระดับลงจะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ และสถานะที่ดีขึ้นของของดุลบัญชีเดินสะพัดในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น และช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน

(+) รัฐบาลมาเลเซียส่งสัญญาณเริ่มกลับมาพิจารณาทบทวนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกครั้ง

(-) สภานการณ์ทางด้านการเมืองภายหลังการเลือกตั้งของไทยและอินโดนีเซียที่ยังไม่ชัดเจน

(-) สงครามการค้าที่เริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือน พ.ค. และมีการตอบโต้กันไปมาของทั้งสองฝ่าย

(-) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

(-) วัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิงคโปร์ที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

(-) การขาดดุลการค้าของอินโดนีเซียที่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.

มุมมองของผู้จัดการกองทุนและกลยุทธ์การลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2019

ผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน (กองทุน B-ASEAN ให้ผลตอบแทน 5.1% กองทุน B-ASEANRMF ให้ผลตอบแทน 5.03% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานให้ผลตอบแทน 5.94%)

การตัดสินใจให้น้ำหลักลงทุนในตลาดหุ้นมาเลเซียน้อยกว่าดัชนี (Underweight)  ส่งผลดีต่อกองทุน ด้วยมาเลเซียเป็นตลาดทีให้ผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยกลยุทธ์การลงทุนในปี 2019 ผู้จัดการกองทุนยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารเชิง Active โดยเน้นคัดเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยยังคงเชื่อมั่นในหุ้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกำลังซื้อกลุ่มคนชนชั้นกลางที่ขยายตัว

ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงเลือกให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมากกว่าดัชนี (Overweight) อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของการส่งออกโดดเด่นที่สุดในภูมิภาค รวมถึงคาดว่าจะกลายฐานการผลิตสำคัญจากกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ขณะที่จะเริ่มเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นมาเลเซียมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของ 2019 นี้ ด้วยคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการใช้จ่ายของรัฐบาลกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่มีความระมัดระวังในการลงทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ด้วยผลกระทบจากสงครามการค้ารวมถึงวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจของสิงคโปร์ สำหรับตลาดหุ้นอินโดนีเซียนั้น ผู้จัดการกองทุนมองว่าตลาดปรับตัวลงมาต่ำจนเข้าสู่ระดับที่น่าเข้าลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้ผู้จัดการกองทุนยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซียมากกว่าดัชนีเล็กน้อย (Slightly Overweight) ต่อไป

ผู้จัดการกองทุนยังคงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของอาเซียนในปีนี้ ด้วยความเสี่ยงบางประการที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วผ่อนคลายลง ไม่ว่าจะเป็น การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ และราคาน้ำมันที่ไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นช่วยหนุนให้ประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่สามารถบรรเทาภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงช่วยให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนยังคงระวังเรื่องความเสี่ยงด้านสงครามการค้า และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกว่าอาจจะส่งต่อมายังตลาดอาเซียนในเชิงเศรษฐกิจและ Sentiment ของตลาดในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มประเทศอาเซียนในระยะยาว โดยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชนชั้นกลางและกำลังซื้อที่ขยายตัวจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจะยังคงขยายตัวได้มากกว่า 5% ต่อปี ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่น่าจับตามองที่สุดในโลก

ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนจะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเชื่อว่ากองทุนจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในระยะยาว สำหรับนักลงทุนที่เชื่อมั่นโอกาสในอนาคตและอดทนต่อความผันผวนของตลาดในระยะสั้นได้

ตัวอย่างหุ้นในพอร์ตการลงทุน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2019

  • Ayala Land Inc (Bloomberg Code: ALI: PM น้ำหนักการลงทุน 2.78%)

ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในฟิลิปปินส์ ทั้งโรงแรม Shopping Center พื้นที่เช่า โดยรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ALI ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ายังฟิลิปปินส์ด้วยเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้ง แนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางฟิลิปปินส์จะช่วยหนุนยอดขายของบริษัท นอกจากนั้น ในระยะกลาง – ยาว ยังได้รับประโยชน์จากการอุปสงค์ต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของทั้งชาวฟิลิปปินส์และชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ

  • Telekomunikasi Indonesia Persero Tbk PT (Bloomberg Code: TLKM: IJ น้ำหนักการลงทุน 3.14%)

ผู้ประกอบการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่งด้วยจำนวนประชากรที่เข้าถึงการใช้เครือข่ายมีเพียงประมาณ 75% ของประชากรทั้งหมดทำให้อุตสาหกรรมสื่อสารของอินโดนีเซียดูโดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดย TLKM มียอดผู้ใช้งานและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ภายหลังจากการแข่งขันทางทางด้านราคาเพื่อช่วงชิงลูกค้า Pre-paid ที่จะลงทะเบียนซิมการ์ดในช่วงต้นปี 2018 TLKM สามารถกลับมาปรับขึ้นราคาได้

ผลการดำเนินงานและความผันผวนของการดำเนินงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2019)