พัฒนาการของ ESG ในจีน (ตอนจบ)

By… เศรณี นาคธน

โอกาสพัฒนา ESG ในจีน จากแรงหนุนของรัฐบาล

นโยบายการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลจีนฉบับล่าสุด (2016-2020) ผนวกกับแรงขับเคลื่อนจากนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ ที่หันมาให้ความสำคัญต่อ ESG ควบคู่กันไปกับผลประกอบการในการพิจารณาลงทุนจะช่วยเป็นแรงกดดันให้บริษัทของจีนต้องตระหนักถึงความสำคัญของ ESG

ทั้งนี้นโยบายการปฏิรูปของภาครัฐ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ซึ่งด้านที่ชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการพยายามหาทางลดมลภาวะ โดยจีนประกาศตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ทั้งประเทศเลิกพึ่งพาโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลักให้ได้ในปี 2020 ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่ของจีนหลายแห่งได้ถูกยกเลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีบทลงโทษสำหรับบริษัทหรือโครงการใดๆที่ก่อให้เกิดมลภาวะขึ้นซึ่งมีโทษสูงสุดถึงการสั่งปิดกิจการ

นอกจากนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัท หรือโครงการต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการเข้าระดมทุนในตลาด แม้กระทั่ง การตั้งเป้าหมายที่จะให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กระทั่ง ณ ปัจจุบันประเทศจีนกลายเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับรถยนต์ EV

สำหรับด้านธรรมาภิบาลนั้น ทาง กลต. ของจีนได้พยายามพัฒนาเพื่อให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนของจีนต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากขึ้น รวมถึงข้อมูลในด้านของ ESG เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน

สำหรับเรื่องของคอร์รัปชั่น นโยบายการกำจัดคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเริ่มเผยแพร่มาสู่ภาคเอกชน โดยบางบริษัทเริ่มมีนโยบายยกเลิกการมอบของขวัญให้กับข้าราชการ เพราะรัฐบาลได้บังคับใช้บทลงโทษสำหรับทั้งผู้ให้และผู้รับสินบน

ด้วยแรงสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ จึงเชื่อได้ว่าจีนมีโอกาสพัฒนาทางด้าน ESG ได้อีกไกล