Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2020 : ยุโรป

Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2020 : ยุโรป

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

     เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 3/2019 ขยายตัว 0.2% QoQ sa เท่ากับตัวเลขในไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบรายปีขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% YoY เท่ากับไตรมาสก่อน ในรายองค์ประกอบ การใช้จ่ายภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ โดยส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Contribution to Growth) 0.3% ตามมาด้วยการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนที่ 0.1% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าโลกยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ด้านเศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวดีกว่าคาดที่ 0.1% QoQ sa หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3 เนื่องจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัว -0.2% ในไตรมาส 2 ส่งผลให้สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยไปได้ ส่วนเศรษฐกิจฝรั่งเศส และอิตาลีมีการขยายตัว 0.3% QoQ sa และ 0.1% QoQ sa ตามลำดับ

ทั้งนี้ ท่ามกลางการชะลอตัวของภาคการผลิตในยูโรโซนที่สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI อันเป็นผลจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในยูโรโซน แต่เมื่อพิจารณาดัชนี PMI ด้านภาคบริการจะพบว่ายังสามารถขยายตัวได้ดี โดยดัชนียังยืนอยู่เหนือระดับ 50 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในยูโรโซนล่าสุดในเดือนต.ค. อยู่ที่ 7.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2008 อย่างไรก็ดี ถึงตลาดแรงงานจะส่งสัญญาณตึงตัวต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนพ.ย. ยังขยายตัวเพียง 1.0% YoY ห่างไกลจากเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระดับใกล้เคียง 2.0%

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2020

     ในปี 2020 เราคาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.1% ใกล้เคียงกับการเติบโตในปี 2019 ที่ 1.2%  จากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลงทุนภาคเอกชนที่เราคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2019 โดยอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2020

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน เรามองว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2019 ตามภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้การจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และค่าจ้างแรงงานอาจเติบโตอย่างช้าๆ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของธุรกิจ ทั้งนี้

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เราคาดว่าจะยังไม่เห็นภาพการกลับทิศทางมาเป็นแนวโน้มขาขึ้น โดยในอีก 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.0% สวนทางกับความพยายามของ ECB ในการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ

BBLAM’s View 

     เศรษฐกิจยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้านที่อาจนำไปสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่นโยบายการเงินมีข้อจำกัด ทุกฝ่ายจึงต่างให้ความหวังกับนโยบายการคลัง

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดทิศทางเศรษฐกิจแยกรายประเทศ โดยดาวน์โหลดเนื้อหาฉบับเต็มได้จากลิงค์ที่แนบมานี้ >   1H2020EconomicReview_Final.pdf