Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2020 : อินโดนีเซีย

Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2020 : อินโดนีเซีย

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา 

     เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2019 นับว่ามีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2018 ในแง่ของค่าเงินรูเปียห์ เงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ดี แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้อยที่สุดในเอเชีย แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผ่านการลดลงของราคาน้ำมันปาล์มและถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ กดดันรายได้เกษตรกร และกระทบการใช้จ่ายในประเทศ

ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนด้านการลงทุนภาครัฐเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้ที่ชะลอตัวลงนั้น เป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลในการลดการนำเข้า เพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และพยุงค่าเงิน ดังนั้น เราจึงเห็นภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วตั้งแต่ต้นปี 2019 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด GDP ไตรมาส 3/2019 เติบโต 5.02% YoY ลดลงจาก 5.05% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการใช้จ่ายภาครัฐจาก 8.2% YoY ในไตรมาส 2/2019 มาเป็น 1.0% ประกอบกับการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอินโดนีเซียก็เติบโตชะลอตัวลงเป็น 5.0% YoY จาก 5.2%

อย่างไรก็ดี การส่งออกสุทธิกลับเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 3 นี้ จากการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้การส่งออกสุทธิ (การส่งออกลบการนำเข้า) เป็นบวก

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2020  

     สำหรับในปี 2020 เราคาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2019 จาก 5.0% เป็น 5.1% โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของวัฏจักรการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากชะลอตัวไปในปี 2019 รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทะยอยออกมาหลังจากนาย Joko Widodo หรือ “Jokowi” เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในช่วงปลายเดือนต.ค. 2019 ซึ่งเรามองว่าโมเมนตัมการเติบโตน่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2021 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ด้านเงินเฟ้อ สำหรับในปี 2020 มีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยด้านต้นทุน (Cost-Push Inflation) อาทิ การลดการอุดหนุนราคาพลังงาน การเพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่ และการเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ไม่ได้เติบโตร้อนแรง ทำให้เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอินโดนีเซียในปี 2020 น่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบของธนาคารกลางที่ 2.0-4.0%

BBLAM’s View 

     ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อในปี 2020 หากภาพเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว แต่น่าจะเป็นการปรับลงอย่างช้าๆ กว่าในปี 2019

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดทิศทางเศรษฐกิจแยกรายประเทศ โดยดาวน์โหลดเนื้อหาฉบับเต็มได้จากลิงค์ที่แนบมานี้ >   1H2020EconomicReview_Final.pdf