‘Gojek’ ยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย

‘Gojek’ ยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย

โดย… เจฟ สุธีโสภณ, อภิชญา จันทร์แจ่ม
กองทุนบัวหลวง

ปัจจุบัน ปฎิเสธไม่ได้ว่า ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ start up ไม่ว่าพนักงานบริษัทหรือนักศึกษาจบใหม่หลายคน แต่ในบรรดาบริษัท Start up จำนวนมาก การที่จะมีบริษัทหนึ่งก้าวหน้าขึ้นไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้นั้น มีเพียงหยิบมือเท่านั้น ซึ่งเปรียบได้กับ ยูนิคอร์น สัตว์หายากในตำนาน ที่เป็นคำเรียกบริษัทที่มีมูลค่าสูงเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพ ปัจจุบัน ยูนิคอร์นมีมากกว่า 430 บริษัททั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและจีน

ในขณะที่ภูมิภาคอาเซียน มียูนิคอร์นอยู่เพียง 8 แห่ง แต่ที่น่าแปลกใจ คือ 5 ใน 8 บริษัทนั้นอยู่ในอินโดนีเซีย จะเห็นว่า การมีประชากรสูงถึง 260 ล้านคน อีกทั้งอายุเฉลี่ยน้อย บวกกับการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่สูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Venture Capital เข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่อินโดนีเซีย

ในบรรดายูนิคอร์นทั้งหลายของอินโดนีเซีย ‘Gojek’ เป็นยูนิคอร์นแห่งแรกและใหญ่ที่สุด ปัจจุบันมีมูลค่าเกือบหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Gojek มีโมเดลการทำธุรกิจคล้าย Grab ที่เริ่มต้นจากการให้บริการเรียกรถแทกซี่ ในขณะที่ Gojek เริ่มจากให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

สำหรับธุรกิจของ Gojek ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2010 ที่กรุงจาร์กาต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ซึ่งจัดเป็นเมืองที่มีปัญหาด้านการจราจรติดขัดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถึงขนาดมีการเปรียบเปรยว่า คนจาร์กาต้าใช้เวลาอยู่บนท้องถนนเท่ากับ 10 ปีในช่วงชีวิตของพวกเขา ดังนั้น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า ojek จึงเป็นทางเลือกแรกสำหรับคนจาร์กาต้าในชั่วโมงเร่งด่วน แต่มอเตอร์ไซค์มักคิดราคาที่ไม่มาตรฐาน อีกทั้งไม่มีจุดรับส่งที่ชัดเจน Gojek จึงเริ่มธุรกิจด้วยการให้ลูกค้าโทรเข้าไปเรียกใช้บริการผ่าน call center ซึ่งในเวลานั้น มีคนขับมอเตอร์ไซค์เพียง 20 คน

แม้ในช่วง 3 ปีแรกของการก่อตั้ง Gojek ยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากความไม่สะดวกในการเรียกใช้บริการ แต่ในปี 2014 บริษัทเห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนา platform แอพพลิเคชั่นบนมือถือของ Uber Gojek จึงเริ่มสร้างแอพพลิเคชั่นของตัวเอง ส่งผลให้คนอินโดนีเซียได้รับความสะดวกในการเรียกรถมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาราคาที่ไม่ยุติธรรม และไม่มีจุดรับส่งที่ชัดเจนของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ต่อมาบริษัทต้องการที่จะตอบสนอง lifestyle ของคนอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มรายได้ของคนขับมอเตอร์ไซค์นอกชั่วโมงเร่งด่วน จึงเพิ่มบริการอย่าง Go-Send (บริการส่งของ) Go-Food (บริการส่งอาหาร) Go-Mart (บริการส่งของชำ) Go-Clean (บริการทำความสะอาด) และ Go-Massage (บริการนวดถึงที่) โดยในบริการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น Go-food หรือบริการส่งอาหาร กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นของ gojek ขณะเดียวกันสามารถเติบโตแซงหน้าการให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จากความต้องการสั่งอาหารของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ gojek เคยออกมาให้ข้อมูลว่า ในปี 2018 บริษัทให้บริการส่งอาหาร หรือเครื่องดื่มกว่า 529 ล้านรายการ ประกอบกับจำนวนร้านอาหารที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มเติบโตแบบก้าวกระโดด จาก 125,000 ร้านค้าในเดือนมกราคม เป็น 300,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม Gojek ยังคงไม่หยุดพัฒนา เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็น  one-stop app.  เช่นเดียวกับ แอพพลิเคชั่น WeChat ในประเทศจีน ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการในชีวิตประจำวันของลูกค้า ทั้งด้านการเดินทาง อาหารและสิ่งบันเทิงต่างๆ อีกทั้ง Gojek ยังเห็นโอกาสในธุรกิจ e-wallet เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ใช้เงินสดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 64 ยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร Gojek จึงริเริ่มให้บริการ e-wallet ภายใต้ชื่อ go-pay โดยสามารถเติมเงินผ่านคนขับที่ให้บริการกว่า 400,000 คน ใน 50 เมือง นอกจากที่จะมุ่งหวังให้ลูกค้าชำระเงินผ่านบริการต่างๆ ของ Gojek แล้ว บริษัทยังต้องการให้ Go-pay เป็น platform ที่ลูกค้าเลือกใช้เพื่อทำรายการธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ด้วย เช่น โอนเงินผ่านมือถือ ถอนเงินสดผ่าน ATMs ของธนาคารคู่ค้า อีกทั้งในระยะต่อไปยังจะใช้ซื้อของออนไลน์ จ่ายบิลทั้งค่าน้ำ ค่าไฟและค่าทางด่วนได้

ในปี 2018 Gojek ขยายธุรกิจออกนอกประเทศอินโดนีเซีย เข้าสู่ประเทศสิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยเริ่มต้นจากธุรกิจเรียกรถรับจ้างผ่าน application พร้อมทั้งเพิ่มบริการอื่นๆ ตามมาในภายหลัง ทำให้คู่แข่งคนสำคัญอย่าง Grab ที่พึ่งซื้อกิจการในภูมิภาค Asean จาก Uber ในปีเดียวกัน ไม่กลายเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาครายเดียวอีกต่อไป สำหรับประเทศไทยเองนั้น ธุรกิจ Gojek ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2019 ภายใต้ชื่อ Get

ถึงแม้ว่า ความนิยมของ Grab และ Gojek จะเติบโตต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าทั้ง 2 บริษัทยังมีผลการดำเนินงานขาดทุน เนื่องจากทั้งสองแห่งนี้ ต่างก็ต้องการเร่งขยายฐานลูกค้าใหม่ ด้วยการแจกส่วนลดให้ผู้คนมีความคุ้นชินกับการใช้บริการ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอย่างมาก ทาง Gojek นั้นได้รับเงินทุนจาก Google, JD.COM  Meituan  Tencent และ Temasek ในขณะที่ Grab ได้รับเงินทุนจาก Softbank Microsoft และ Didi Chuxing ซึ่งการที่ได้รับแรงสนับสนุนจากบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีคู่แข่งเพิ่มเติมที่มีศักยภาพเข้ามาในตลาด โดยคู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามา คงต้องมีขนาดเงินทุนไม่แพ้กัน ซึ่งบริษัทในโลกก็มีไม่กี่ราย

ปัจจุบัน Grab นำหน้า Go-Jek เล็กน้อยในแง่จำนวนฐานลูกค้า แต่ว่า ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ยูนิคอร์นตัวไหนจะเป็นผู้ชนะในระยะยาวของภูมิภาคนี้ เพราะ platform เหล่านี้ ยังสามารถเพิ่มขอบเขตการให้บริการได้อีกมากมาย นอกจากนี้ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ภาพรวมของตัวบริษัทอาจจะเปลี่ยนไปอย่างมาก จากปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าติดตามกันต่อไป