“แนวโน้มการลงทุนต่อจากนี้ ด้านปัจจัยภายนอก ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หลังนโยบายการเงินและการคลังจากทางภาครัฐช่วยหนุนเศรษฐกิจเต็มที่ โดยตลาดอาจเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามามากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ โดยแม้ว่าจะเป็นปัจจัยที่ตลาดจับตาดูอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะสร้างความผันผวนในระยะสั้นๆ ได้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ มีปัจจัยเพิ่มเติมจากการชุมนุมทางการเมือง”
ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปรับตัวในทิศทางเชิงบวก นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดัชนี S&P500 สามารถทำ All Time High ได้ในปลายเดือนสิงหาคม หลังจากการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน หนุนนำด้วยกลุ่ม Technology
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนโดยภาพรวมยังคงขับเคลื่อนด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านนโยบายการเงิน ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งระบุ Fed จะมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดย Fed จะปล่อยให้เงินเฟ้อสูงกว่า 2% ทั้งยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มต่ำต่อไปเป็นระยะเวลานานขึ้น ส่งผลบวกต่อการลงทุนโดยภาพรวม
ขณะที่ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง นำโดย PMI ในสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน ที่กลับมาอยู่ในโซนขยายตัวและยังคงความแข็งแกร่ง แม้ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอลง แต่ตลาดยังคงมีความหวังต่อนโยบายการคลังระลอกใหม่จากสภาคองเกรสที่จะเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาการเชิงบวกจากวัคซีนที่ยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว
สำหรับ ปัจจัยที่มีเข้ามากดดันตลาด ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง จากการแบนแอปพลิเคชันของจีน
ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับตัวเคลื่อนไหวในกรอบ 1,292 – 1,353 จุด และปรับตัวลดลงเล็กน้อย 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นเดือนที่รับรู้ผลประกอบการไตรมาสสองครบถ้วน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวแรง บริษัทจดทะเบียนไทยมีกำไรรวม 1.18 แสนล้านบาท ลดลง 46% YoY เพิ่มขึ้น 34% QoQ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพลิกกลับมามีกำไรสุทธิในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี หลังตลาดน้ำมันฟื้นตัวจากเหตุการณ์การ Lockdown
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการโดยรวมเป็นไปตามคาดการณ์กำไรของตลาด (Bloomberg Consensus) ทั้งนี้ แนวโน้มประมาณกำไรของตลาดยังคงปรับลง ทำให้ระดับ Fwd PE ของปี 2020-2021 ปรับสูงขึ้นเป็น 22.2 และ 17.1 เท่า ตามลำดับ กดดัน Upside ของตลาดในระยะสั้น แม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มีแนวโน้มกลับคืนสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังการเกิด Second Wave อยู่ ในขณะที่มาตรการฟื้นฟูจากทางรัฐบาลคาดว่าจะมีออกมาต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยประคับประคองการใช้จ่ายในประเทศ ในระหว่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถกลับมาท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ได้
แนวโน้มการลงทุนต่อจากนี้ ด้านปัจจัยภายนอก ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หลังนโยบายการเงินและการคลังจากทางภาครัฐช่วยหนุนเศรษฐกิจเต็มที่ โดยตลาดอาจเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามามากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ โดยแม้ว่าจะเป็นปัจจัยที่ตลาดจับตาดูอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะสร้างความผันผวนในระยะสั้นๆ ได้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ มีปัจจัยเพิ่มเติมจากการชุมนุมทางการเมือง
กลยุทธ์การลงทุน ในช่วงนี้ยังมีความ Selective เนื่องจากระดับ Valuation ที่สูง ซึ่งหนุนนำโดยสภาพคล่องทางการเงินของโลก ในขณะที่ผลประกอบการหลังจากฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาสสองแล้ว ยังต้องติดตามว่าแนวโน้มการฟื้นตัวต่อจากนี้จะช้าเร็วกว่าที่คาดอย่างไร ในระยะสั้นตลาดอาจเผชิญความผันผวนได้บ้าง การลงทุนจึงเลือกเน้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการที่ดี