ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2018 โตต่อเนื่อง 4.1%

ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2018 โตต่อเนื่อง 4.1%

ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่าที่ตลาดคาด เห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้นหลายครั้ง โดยท้ายที่สุด ทั้งปี 2017 เศรษฐกิจไทยก็สามารถเติบโตถึง 3.9% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2016 โดยมีการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สำหรับในปี 2018 กองทุนบัวหลวง ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ 4.1% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย อาทิ การกลับมาของการลงทุนในประเทศ การท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง และการส่งออกที่ยังคงเป็นพระเอกในปีนี้ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก ในขณะที่ การบริโภคของภาคเอกชนยังคงมีปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตอยู่บ้าง

เมื่อเครื่องยนต์ “การลงทุนภาคเอกชน” สตาร์ทติด

ในช่วงก่อนหน้านี้ การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทย แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามนำร่องเร่งลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้

ภาคเอกชนลงทุนตาม แต่ผลที่ออกมากลับพบว่าเอกชนยังไม่กล้าลงทุนเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุปสงค์ในตลาดโลกยังซบเซา และไปกระทบกับยอดสั่งซื้อ แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในปีที่ผ่านมา และเป็นการเติบโตแบบกระจายทั่วทุกภูมิภาค บวกกับความเสี่ยงต่างๆ ที่เคยคาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจนั้นได้เบาบางลงเร็วกว่าที่คาด ทำให้การส่งออกของไทยกลับมาเติบโตได้ดี และกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นมานับตั้งแต่ไตรมาส 2/2017 ทั้งปี 2017 การลงทุนภาคเอกชนจึงขยายตัวได้ 1.7% มากกว่าปี 2016 ที่ 0.5% นอกจากนี้ การเร่งตัวขึ้นของการนำเข้าสินค้าทุนในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการลงทุนของภาค

เอกชนเช่นกัน

สำหรับในปี 2018 เรามองว่า ภาคเอกชนน่าจะยังมีการลงทุนเพิ่มเติมต่อเนื่อง 3.2% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี และการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเบิกจ่ายได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเห็นชอบ พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ที่ทำให้ภาคเอกชนเริ่มเตรียมขยายการลงทุนเพิ่ม ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 นี้

 

รัฐอัดฉีดงบลงทุนเพิ่ม หนุนการขยายตัวจากฐานต่ำปีก่อน

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ขั้นตอนอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น และกลายเป็นปัจจัยที่มากระทบการเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ เราเชื่อว่าปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าจะคลี่คลายลงไป จากการปรับตัวของหน่วยงานรัฐต่างๆ กับกฎเกณฑ์ใหม่นี้ หลังเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น และมีการลดหย่อนระเบียบบางส่วนลง เช่น การพิจารณาให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบการเชิงพาณิชย์โดยตรงอยู่นอกขอบเขตกฎหมายฉบับดังกล่าว

นอกจากนั้น จะสังเกตได้ว่านโยบายการคลังปี 2018 มีความเอื้ออำนวยต่อการลงทุนในภาครัฐสูง โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนสำหรับ FY2018 (ต.ค. 2017 – ก.ย. 2018) ไว้มากถึง 6.67 แสนล้านบาท คิดเป็นราว 23% ของวงเงินงบรวม (เทียบกับสัดส่วน 20% สำหรับ FY2016-17) ขณะที่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจภายใต้สคร. ก็ถูกตั้งไว้สูงถึง 5.06 แสนล้านบาทในช่วงเดียวกัน เพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อนหน้า และล่าสุดในเดือน ม.ค. 2018 ตัวเลขการเบิกจ่ายภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจสามารถการกลับมาขยายตัวได้ 42% YoY และ 47% YoY ตามลำดับ หลังการมีการเร่งลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียว และจัดหาเครื่องบินของบริษัทการบินไทย เป็นโมเมนตัมบวกสานต่อไปยังการเริ่มต้นของโครงการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆอีกในปีนี้ อาทิ รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู รวมไปถึงทางด่วนพระราม 3 – วงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) เป็นต้น

เราปรับประมาณการเม็ดเงินลงทุนภาครัฐปี 2018 ให้กลับมาเติบโต 7.2% เทียบกับการหดตัว -1.2% ในปีก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐจึงจะเข้ามาเป็นส่วนที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่งในปีนี้

การส่งออก พระเอกดันเศรษฐกิจไทยปีจอ

ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประมาณการว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2018 จะเติบโตได้ถึง 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 ทำให้

เราคาดว่า อุปสงค์ในตลาดโลกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 6.4% ในปี 2018 หลังจากที่เติบโตได้ 9.9% ในปี 2017 (การส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ) โดยสินค้าส่งออกที่น่าจะเติบโตได้ดี ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการผลิตโลก ในขณะที่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่น่าส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทยมาก เนื่องจากทิศทางของค่าเงินหลายประเทศในภูมิภาคก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

การจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนยังโตได้ ท่ามกลางความเสี่ยงในภาคเกษตร

เนื่องจากภัยแล้งในปี 2015-2016 ส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรในช่วงดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อสถานการณ์ภัยแล้งได้สิ้นสุดลงในปี 2017 ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ และมีผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น การขยายตัวของผลผลิตภาคเกษตรในปี 2018 จึงมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ทำให้รายได้เกษตรกรต้องเผชิญแรงกดดันด้านการขยายตัวของผลผลิต ยิ่งเมื่อรวมกับผลของปรากฏการณ์ลานีญา ที่ทำให้เกิดภาวะฝนตกหนัก ก็นับเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมด้านผลผลิตการเกษตร

ส่วนในด้านราคาสินค้าเกษตร เรามองว่า ในช่วงครึ่งแรก ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักของไทยอย่างยางพาราที่มีราคา 43 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนม.ค. 2018 เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ที่อยู่ราว 60-70 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในช่วงครึ่งปีหลังหากผลผลิตถูกกระทบจากภาวะน้ำท่วม ก็น่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง ทั้งนี้ ต้องดูว่าผลของทางด้านปริมาณหรือราคาจะมีผลต่อรายได้เกษตรกรมากกว่ากัน โดยเรามองว่า รายได้เกษตรกรจะยังเป็นปัจจัยท้าทายต่อการเติบโตของการบริโภคในประเทศ

อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 การเปิดตัวรถยนต์รุํนใหม่ และมาตรการของภาครัฐช่วยเหลิอผู้มีรายได้น้อย น่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้ และทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ถึง 3.0% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ 3.2%

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจรัสเซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง น่าจะยังเป็นอีกหนึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคบริการ อาทิ ร้านอาหาร และโรงแรม ทั้งปี 2018 เราคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสเติบโตแตะระดับ 37 ล้านคน

ต้องยอมว่านี่เป็นทิศทางที่ดีของเศรษฐกิจไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของลงทุนในประเทศ ขณะที่การส่งออกก็ยังคงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเช่นเดิม แม้จะเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้าง สิ่งที่ยังเป็นท้าทายสำคัญคงหนีไม่พ้นการรักษาโมเมนตัมการเติบโตให้ต่อเนื่องทั้งปี 2018 สำหรับเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ใน

ระดับต่ำ ทั้งนี้ เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ในระดับเดิมที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2018 เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง รวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็ยังมีไม่มากนัก