By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
BF Knowledge Center
หลักการจัดเงินพื้นฐานโดยแบ่งเงินเป็น 3 ก้อน โดยก้อนแรก เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายประจำวันหรือรายเดือน ส่วนก้อนที่2 มักเป็นส่วนที่ถูกละเลยทั้งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ก้อนที่ 2 เงินสำรองยามฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ละเลย ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลักคิดของเงินก้อนนี้คือ วันใดที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ทำงานไม่ได้หรือรายได้ไม่เข้ามา ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในรูปแบบเดิมๆ หรือใกล้เคียงเดิมได้ไปอีกอย่างน้อย 4-6 เดือน ดังนั้นเงินก้อนนี้ควรมีไว้อย่างน้อยเท่ากับ 4-6เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนทั้งรายจ่ายประจำ และการผ่อนชำระต่างๆ
เงินส่วนนี้ควรแยกออกจากเงินใช้กรณีเจ็บป่วยให้ชัดเจน เพราะเป้าหมายคือสำรองเพื่อการดำรงชีพในสภาวะที่ขาดรายได้ ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วย ซึ่งในวันที่เกิดเหตุไม่คาดคิดจะได้ไม่เดือดร้อน ไม่ลนลาน เพราะยังสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถูกสถานการณ์บีบคั้นให้เร่งหารายได้ จนทำให้ตัดสินใจในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคต
แล้วเงินเงินสำรองยามฉุกเฉิน ก้อนนี้ ควรมีเท่าไร 3 หรือ 4 หรือ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายและภาระรายเดือน เรื่องนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่หากนำเรื่องการคุ้มครองความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ ก็จะมี 2 เรื่องให้พิจารณา คือ โอกาสที่รายได้จะไม่เข้าหรือตกงานมีมากน้อยแค่ไหน และ หากรายได้ขาดหายจริงจะเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนมากก็ควรมีสำรองมาก เช่น พนักงานขายที่รายได้หลักขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่น ยอดขาย หรือเมื่อเก็บเงินลูกค้าได้ ความไม่แน่นอนของรายได้จะมากกว่า พนักงานฝ่ายบัญชี หรือผู้ที่มีเงินเดือนประจำ พนักงานกลุ่มนี้ก็ควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉินที่มากกว่า หรือผู้ที่มีภาระความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายสูง คนทำงานที่มาจากต่างจังหวัดต้องเช่าหอพักอยู่หรือผ่อนคอนโด หรือมีภาระหน้าที่หลักในการส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว หรือบุพการีรายเดือน หากขาดรายได้ ก็จะประสบปัญหามากกว่าคนทำงานที่มีบ้านของตนเองหรืออยู่บ้านเดียวกับพี่น้องพ่อแม่ หรือผู้ที่โสดไม่มีบุคคลในการอุปการะดูแล เป็นต้น
เงินก้อนที่ 2 มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ในที่ความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน แต่อาจจะรับความผันผวนหรือมีข้อจำกัดได้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสของผลตอบแทน แต่ก็ไม่ควรนำไปลงทุนในกองทุนหุ้น หรือกองทุนที่มีความผันผวนสูง อาจจะใช้กองทุนตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายเป็นที่เก็บออม หรือใครสะดวกจะใช้กองทุนรวมตลาดเงินก็สามารถทำได้ ในกรณีที่ไม่เกิดปัญหา เงินก้อนนี้ก็จะลงทุนหรือฝากไปเรื่อยๆ เสมือนส่วนที่ลงทุนยาวในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือแม้แต่จะใช้วิธีฝากประจำไว้กับธนาคารเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยดีกว่าการแช่ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ก็ทำได้ ในวันที่เกิดความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถถอนได้เพียงแต่ไม่ได้รับดอกเบี้ยในงวดนั้น
คราวหน้ามาต่อกันที่เงินก้อนสุดท้าย เงินลงทุนตามเป้าหมาย