Biodiversity การอยู่ร่วมกันเพื่อ Ecosystem ที่ดีขึ้น

Biodiversity การอยู่ร่วมกันเพื่อ Ecosystem ที่ดีขึ้น

โดย…ปรารถนา มงคลสุนทรโชติ

กองทุนบัวหลวง

วิกฤตการณ์ COVID-19 ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ยึดหลัก ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยนอกเหนือจากที่หลายประเทศได้ผลักดันนโยบายหรือกฎหมายที่จะลดหรือจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ยังมีอีกหัวข้อหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

Biodiversity คือ การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือง่ายๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก Biodiversity มีความเกี่ยวพันอย่างสูงกับสิ่งแวดล้อมโดยรวม ตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศน์ที่ดีจะช่วยดูดซับคาร์บอนได้ดี ลดสภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี Biodiversity อาจยังไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก อาจเป็นเพราะยังไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน อย่างการปล่อยคาร์บอน ที่สามารถวัดได้โดย Carbon Footprint

Biodiversity นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อ้างอิงจาก The World Wide Fund for Nature (WWF) การทำลายระบบนิเวศน์ป่าไม้ (Forests) ทุ่งหญ้า (Grasslands) และแนวปะการัง (Coral Reefs) อาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2050 วิกฤตการณ์ COVID-19 อาจเป็นตัวอย่างการรุกรานระบบนิเวศน์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดก็ว่าได้ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ต้นตอของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจมาจากการที่ไวรัสจากสัตว์ตัวกลางระบาดมาสู่คน โดยมีการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในตลาดไปส่งตรวจและพบเชื้อไวรัส ซึ่งพบมากที่สุดในบริเวณที่ค้าสัตว์ป่า นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ที่เคยแพร่ระบาดในปี 2003 ก็มีข้อสันนิษฐานว่า มาจากการติดเชื้อในค้างคาว

อย่างไรก็ดี Biodiversity เริ่มมีการกล่าวถึง โดยต้นปี 2020 Microsoft ได้ร่วมมือกับ Esri บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สร้าง “Planetary Computer” ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจธรรมชาติจากทั้งดาวเทียมและภาคพื้นดิน โดยสามารถใช้ข้อมูลจากการสำรวจนี้วิเคราะห์ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ เช่นการสำรวจโครงสร้างป่าไม้ การสำรวจปรากฏการณ์การเจริญเติบโตของสาหร่ายและแพลงตอนพืชอย่างรวดเร็ว (Agal Blooming) ที่เกิดจากสารอาหารในน้ำที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะไนโตรเจนที่มาจากปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตร ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลขาดออกซิเจน

ปัจจุบันเริ่มมีนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Biodiversity เช่น AXA และ Natixis บริษัทด้านการลงทุนฝรั่งเศส มี AUM 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ Natixis ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนใน Biodiversity ไว้ที่ 2 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอาจจะยังเร็วเกินไปในการลงทุนใน Biodiversity เนื่องจากมีบริษัทไม่มีมากที่สามารถสร้างกำไรได้จากธุรกิจนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.ft.com/content/100f0c5b-83c5-4e9a-8ad0-89af2ea4a758

https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/update-28-covid-19-what-we-know—june2020—thai.pdf?sfvrsn=724d2ce3_0

https://earth.org/planetary-computer/#:~:text=The%20planetary%20computer%2C%20described%20as%20a%20%E2%80%9Cglobal%20portfolio,into%20practical%20information%20regarding%20the%20Earth%E2%80%99s%20current%20ecosystems