ปัญหาภาษีของเงินปันผลจากกองทุนรวม

ปัญหาภาษีของเงินปันผลจากกองทุนรวม

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

โดยปกติการลงทุนโดยเลือกกองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผล จะเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนกลับคืนระหว่างการลงทุนบ้าง อาจจะเพราะต้องการเงินไปใช้ระหว่างการลงทุน หรือเพราะไม่อยากรอคอยผลตอบแทนรอบเดียวตอนขายคืน ก็แล้วแต่เป้าประสงค์

เรื่องเงินปันผลสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดา ถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ไม่ควรผิดพลาดเรื่องภาษี จึงมีความจำเป็นที่ควรทราบในประเด็นเล็กๆ น้อยๆ บางเรื่อง
เงินปันผลจากกองทุนรวม จัดเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ไม่ได้รับการยกเว้นเหมือนกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนครับ

กองทุนรวมที่เราๆ ท่านๆ ลงทุนกันอยู่ในปัจจุบันจะเป็นกองทุนรวมตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือว่าเงินปันผลจากกองทุนรวมกลุ่มนี้เป็นรายได้ประเภท 40(8) นะครับ ไม่ใช่เงินปันผลจากกองทุนรวมตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39 ที่เป็นรายได้ 40(4) (ข) ซึ่งเป็นกองทุนรวมดั้งเดิมก่อนเกิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี พ.ศ.2535

เงินปันผลจากกองทุนรวมทั้ง 2 ประเภท นอกจากเงินปันผลจะเป็นรายได้คนละประเภทแล้ว ยังมีความแตกต่างในเรื่องหัก ณ ที่จ่าย อีกด้วย  ถ้าเงินปันผลตาม 40(4) จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที  แต่ถ้าเป็นเงินปันผลตาม 40(8) ของกองทุนรวมในปัจจุบัน กองทุนรวมไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายนะครับ หากผู้ถือหน่วยลงทุน ไม่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ว่าให้หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย

เรื่องนี้สำคัญอย่างไรในแง่การวางแผนภาษีเงินปันผลจากกองทุนรวม

คืออย่างนี้ครับการหักภาษี ณ ที่จ่ายในกรณีเงินปันผลจากกองทุนรวม ถ้าหัก ณ ที่จ่าย 10%  เรียบร้อยแล้ว ผู้ลงทุนมีสิทธิเลือกว่าจะเอารายได้เงินปันผลนี้ไปรวมเป็นรายได้ตอนยื่นแบบ ภงด. เพื่อเสียภาษีหรือไม่ก็ได้ (ถ้ารวม ต้องใช้ ภงด.90) มีสิทธิเลือก แต่ถ้าไม่ได้ให้หัก ณ ที่จ่ายไว้ต้องนำเงินปันผลไปรวมเป็นรายได้ 40(8) เท่านั้น

โดยปกติเมื่อเราหัก ณ ที่จ่ายเรียบร้อยแล้ว เราจะไม่เอารายได้เงินปันผลไปรวมใน ภงด.90 ถ้า 1) เราเสียภาษีในอัตราภาษีบุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าสูงสุดที่ 10% ขึ้นไป เพราะการนำรายได้นี้ไปรวมจะทำให้เสียภาษีเท่าเดิมหรือเสียมากขึ้น 2) ไม่อยากยุ่งยากกับการเก็บเอกสารไว้ยื่นแบบ หรือไม่อยากวุ่นวายเรื่องประเภทรายได้ที่เพิ่มขึ้นกับกรมสรรพากร

แต่ถ้าผู้ได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมไม่มีรายได้อื่น หรือมีรายได้ที่เสียภาษีในอัตราภาษีบุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าสูงสุดไม่ถึง 10% การนำเงินปันผลจากกองทุนรวมมารวมเป็นรายได้ ก็จะทำให้ได้รับภาษีคืนบางส่วน

ประเด็นต่อมา คือเวลาสรรพากรให้เลือกว่าจะเอารายได้เงินปันผลจากกองทุนรวมยื่นแบบใน ภงด.90 หรือไม่  สรรพากรให้เอามาทั้งหมดนะครับ ไม่ใช่เลือกเป็นรายการ เช่น ในปีภาษีนี้ ได้รับเงินปันผลกองทุนรวมมาทั้งสิ้น 10 ครั้ง ถ้าจะเอามารวมเป็นรายได้ก็ต้องเอารายได้รวมจากทั้ง 10 ครั้งนั้นมายื่นแบบ ภงด.90 จะเลือกเป็นบางรายการไม่ได้

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเงินปันผลจากกองทุนใด หรือการจ่ายครั้งใด ที่ไม่ได้หัก ภาษี ณ ที่จ่าย เพราะผู้ลงทุนไม่ได้แจ้งไว้ว่าให้กองทุนหัก  แม้จะเพียงรายการเดียว ก็จะต้องเอาเงินปันผลจากกองทุนรวมทั้งหมดมารวมเป็นรายได้ 40 (8) ใน ภงด.90 ด้วย เลือกเป็นบางรายการไม่ได้

กรณีตัวอย่างข้างบนที่ผู้ลงทุนได้รับปันผลกองทุนรวมมา 10 ครั้ง หากเพียง 1 ครั้งที่ไม่ได้หัก ณ ที่จ่ายมา เพราะผู้ลงทุนลืมแจ้งให้กองทุนหัก ณ ที่จ่ายไว้ ก็จะต้องนำเงินปันผลของกองทุนรวมทั้งหมดในปีนั้นมารวมเป็นรายได้ทันที  และถ้าในปีนั้น อัตราภาษีบุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดมากกว่า 10% เท่ากับว่าปีนั้นจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามฐานภาษีขั้นสูงสุดนั้น งานเข้าทันที

แล้วตอนนี้ คุณทราบไหมว่ากองทุนรวมแบบมีนโยบายจ่ายปันผลที่คุณลงทุนไว้ คุณให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือยังครับ