อินเดีย แดนภารตะ เมื่อเอ่ยถึงประเทศนี้ ถ้าไม่นับเรื่องของเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพลักษณ์ที่อาจจะไม่ได้ดีมากนัก ทั้งสภาพบ้านเมือง หรือความแออัดของประชากรที่เราเคยได้เห็นผ่านทางสื่อ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ชาวอินเดียเองนั้นตระหนักดีถึงข้อเสียเหล่านี้ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไป เร็วๆ นี้ มีแนวโน้มที่น่าสนใจเกิดขึ้นในอินเดีย ก็คือ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่พยายามจะเปลี่ยนอินเดียให้เป็นสถานที่ที่ดีขึ้น แต่การจะเปลี่ยนประเทศหนึ่งที่ใหญ่และยุ่งเหยิงขนาดนั้นให้ดีขึ้น โดยไม่ได้ทุนทรัพย์หรืออำนาจใดๆ มันจะต้องเริ่มจากตรงไหน
อันดับแรก และใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ต้องเริ่มจากการสื่อสารหรือรณรงค์ค่านิยมดีๆ ให้แผ่ขยายขึ้นมาก่อน ในเมืองหลวงของอินเดีย มีกลุ่มวัยรุ่นที่เคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยแคมเปญ ‘Do Nice Sh*t’ ซึ่งสนับสนุนให้คนทำความดีเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ NGO และไม่ได้รับเงินบริจาคใดๆ เขาเพียงแต่แลกเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือสังคมกับคนที่มีความสนใจว่า เขาสามารถทำความดีอะไร เพื่อช่วยอะไรขึ้นมาได้บ้าง แล้วก็เผยแพร่ลงไปในโซเชียลมีเดีย กิจกรรมเหล่านั้นก็มีตั้งแต่ ให้คอมพิวเตอร์กับเด็กนักเรียนด้อยโอกาส รณรงค์สร้างนิสัยขับขี่ที่ปลอดภัย แจกสิ่งของให้คนยากจนในสลัม ปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่าง เอาน้ำสะอาดมาให้สุนัขจรจัดในช่วงหน้าร้อน เรียกว่า เป็นการสร้างค่านิยมที่ทำให้คนรู้สึกว่า การได้ทำความดีให้สังคมนั้นเป็นเรื่องเท่ห์และน่าภูมิใจ โดยผู้ก่อตั้งแคมเปญนี้ ได้แก่ Jaivir Hans และ Sahil Marwaha สองหนุ่มซึ่งมีอายุไม่ถึง 30 ปี ได้ตั้งสโลแกนว่า ถ้าคุณเห็นปัญหาอะไรสักอย่าง จงลงมือช่วยเหลือด้วยตัวคุณเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นทำก่อน
นอกจากการทำสังคมเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น ความพยายามในพื้นที่ชนบทก็มีมุมที่น่าสนใจ ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ ความพยายามช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชนบทของอินเดียให้ดีขึ้น นิตยสารฉบับหนึ่ง ชื่อ The Better India ที่เผยแพร่แนวคิดนี้ด้วยการตีพิมพ์บทความต่างๆ ที่บอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในพื้นที่ยากไร้ของอินเดีย ตัวอย่างในบทความหนึ่ง ได้บอกเล่าว่า ชีวิตในชนบทของอินเดียนั้นต้องพึ่งพิงกับการเลี้ยงสัตว์มากเพียงใด โดยในชนบทของอินเดียนั้น การเลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งที่มาของรายได้อันดับสามรองจากการทำการเกษตร และการรับจ้างใช้แรงงาน ในบทความนี้กล่าวถึงครอบครัวในอินเดีย มีรายได้เพียงแหล่งเดียวคือ การเก็บค่าจ้างเดินทางหรือขนสัมภาระด้วยอูฐ เมื่ออูฐตัวนั้นตายลงไป ครอบครัวนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนช่วยเหลือใดๆ ได้ เพราะในพื้นที่ชนบทที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างสหกรณ์หรือธนาคารยังค่อนข้างจำกัด เงินกู้นอกระบบเป็นทางออกเดียวสำหรับคนไม่มีทางเลือก ซึ่งต้องถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงถึง 10% ต่อเดือน และนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อระดมเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในชุมชนเพื่อให้เข้าถึงเงินกู้ราคาถูกได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยสินเชื่อนั้นจะให้กับสมาชิกในชุมชน โดยมีกลุ่มชุมชนนั้นเองเป็นผู้ค้ำประกันให้ หรือจะเรียกว่า ใช้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนเป็นตัวค้ำประกันและเป็นผู้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือนั่นเอง
ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ การจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนั้น ควรจะเริ่มที่จุดเริ่มต้นคล้ายๆ กัน อันดับแรกคือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจปัญหาพื้นฐานและค่านิยมของชุมชนที่จะเข้าไปพัฒนาก่อน อันดับสอง การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อให้คนจำนวนมากสามารถทำตามได้ และหลังจากนั้น อันดับสาม ต้องมีการประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง ให้คนตระหนักว่า ปัญหาต่างๆ นี้มีอยู่จริง เพื่อที่จะเชื่อมโยงระหว่างคนที่ต้องการความช่วยเหลือกับคนที่สามารถจะช่วยเหลือให้เข้าหากันได้
ด้วยประสบการณ์จากตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจำนวนมาก เราควรตระหนักว่า การพัฒนาประเทศที่ดีขึ้นนั้นไม่สามารถมุ่งเน้นแต่การเติบโตของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างค่านิยมที่ดีให้กับประชากรด้วย ประชากรควรจะมีความเข้าใจ ร่วมมือร่วมใจ เห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อจะทำให้แน่ใจว่า ไม่ได้มีคนที่ถูก ทิ้งอยู่เบื้องหลัง ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการพัฒนาที่น่าติดตามของอินเดีย ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่โตอย่างรวดเร็วไปด้วยกัน
พิชชาภา ศุภวัฒนกุล
กองทุนบัวหลวง