หนึ่งปีหลังจากที่รัฐบาลโมดี้ประกาศยกเลิกธนบัตรจำนวน 18 ล้านล้านรูเบิ้ล หรือ 86% ของเงินรูปีทั้งหมดที่หมุนเวียนในระบบ ปรากฎว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียของมาตรการนี้ยังคงมีอยู่
นายกรัฐมนตรี นาเรนดรา โมดี้ ต้องการใช้นโยบายยกเลิกธนบัตรเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาตลาดมืด การเลี่ยงการจ่ายภาษี ธนบัตรปลอม รวมทั้งการเร่งสู่ระบบการชำระเงินแบบออนไลน์ แต่นโยบายนี้สร้างความปั่นป่วนพอสมควรให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคชนบทที่คนยังไม่เข้าถึงธนาคาร หรืออินเทอร์เน็ต
วันที่ 8 พฤศจิกายนนี้จะเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่นโยบายยกเลิกธนบัตรได้ประกาศใช้ โดยบังคับให้ประชาชนเอาธนบัตรเก่ามาแลกธนบัตรใหม่ ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติ โดยมีธนบัตรใหม่กลับเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 15.89 ล้านล้านรูปี
นอกจากมาตรยกเลิกธนบัตรแล้ว นโยบายภาษีใหม่ (Goods and Services Tax) ที่รัฐบาลโมดี้ประกาศใช้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดความอลเวงพอสมควรในการจัดเก็บภาษีที่บังคับใช้ทั่วประเทศเพื่อให้ทุกรัฐของอินเดียมีระบบภาษีรูปแบบเดียวกัน
นับว่าเป็นความกล้าหาญของโมดี้ที่ใช้นโยบายยกเลิกธนบัตร และนโยบายภาษีใหม่ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยม และอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงแรก โดยเศรษฐกิจในไตรมาสระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปี 2017 มีอัตราเติบโตที่ 5.7% เทียบกับ 6.1%ในไตรมาสแรกระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม
อย่างไรก็ตาม ทาง DBS Bank ของสิงคโปร์มีรายงานว่า แม้ว่าการใช้นโยบายยกเลิกธนบัตรอาจจะมีผลกระทบระยะแรก แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐบาลอินเดียที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบเปิดมากยิ่งขึ้นเพื่อง่ายต่อการเก็บภาษี หรือการตรวจสอบ นโยบายต่อไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การตรวจสอบเงินฝากต่างประเทศ การใช้ระบบออนไลน์ การใช้ระบบไบโอเมตริกส์เพื่อรองรับบัตรประจำตัวประชาชนจะมีผลทำให้อินเดียเข้าสู่ระบบเปิดมากยิ่งขึ้น