By…ณัฐพล ปรีชาวุฒิ
Portfolio Management
ทุกวันนี้ เราได้เห็นข่าวภัยธรรมชาติที่รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พายุที่รุนแรง อุทกภัยหนัก หรือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ โดยในประเทศไทยเรา ก็ได้เห็นข่าวอุทกภัยแทบทุกปี จนเป็นข่าวที่ชินตา ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากข่าวเหล่านี้ คือ ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือ ในการนี้เอง ในฐานะของการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี เราได้เห็นผู้ประกอบการหลายรายตระหนักถึงสถานการณ์และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแต่ละครั้งไม่น้อย ซึ่งสิ่งที่เราเห็นในไทยโดยส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในรูปแบบของการบริจาคเงินและสิ่งของ แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เราจะได้เห็นบริษัทชั้นนำในต่างประเทศนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ ESG เพื่อผู้ประสบภัยได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2560 เกิดพายุเฮอริเคนหลายลูก พัดถล่มรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในแถบทะเลคาริเบียน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายร้อยคน ส่วนผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบนั้นมีนับหลายแสนคน ในครั้งนั้นเอง เราได้เห็นความช่วยเหลือจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งซิคอน วัลเลย์ อย่าง แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) อูเบอร์ (Uber) ลิฟท์ (Lyft) เฟสบุ๊ค (Facebook) เทสลา (Tesla) และอีกมากมาย เอื้อเฟื้อเทคโนโลยีที่ตัวเองมีอยู่ เข้ามาช่วยทดแทนโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย
Airbnb ผู้ให้บริการด้านที่พักอาศัย อำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ประสบภัยและไร้ที่พักอาศัย ด้วยการบริการแอปฯ ของบริษัท เพื่อหาแหล่งที่พักพิงชั่วคราวโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ขณะเดียวกัน Airbnb ยังส่งอีเมล์ถึงเจ้าของที่พักในบริเวณประสบภัยและบริเวณข้างเคียง เพื่อขอความร่วมมือช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยที่ Airbnb ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการปล่อยเช่า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีส่วนช่วยในการให้ที่พักพิงแก่ผู้ประสบภัยในครั้งนั้นกว่า 400 หลังคาเรือนเลยทีเดียว
บริษัทที่ให้บริการเครือข่ายคมนาคมอย่าง Uber และ Lyft ก็มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเช่นกัน โดย Uber บริจาคเงินสามแสนเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการให้บริการขนส่งผู้ประสบภัย รวมถึงการลำเลียงสิ่งของอุปโภคบริโภคในบริเวณพื้นที่ประสบภัย ในขณะที่ Lyft สนับสนุนการบริจาคช่วยเหลือ ผ่านการให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้บริการในการปัดเศษเงินทอน เพื่อบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัย
ในส่วน Facebook นั้น ก็บริจาคเงินกว่าหนึ่งล้านห้าแสนเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่องค์กรการกุศลต่างๆ ทั้งยังร่วมมือกับบริษัท NetHope ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านระบบโทรคมนาคมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ติดตั้งโดรนและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบริเวณภัยพิบัติ นอกจากนี้ Facebook ยังร่วมมือกับองค์กรกาชาดในการสร้าง “แผนที่ประชากร” เป็นฐานข้อมูลให้แก่องค์การฯ ในการกระจายความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน Tesla แจกจ่ายแบตเตอรี่ให้แก่บ้านเรือนที่ประสบภัยหลายร้อยลูก และไม่แค่นั้น Elon Musk เจ้าของ Tesla ยังเสนอการช่วยเหลือซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทอีกด้วย
เมื่อพิจารณาตัวอย่างการช่วยเหลือสังคมของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแล้ว เราจะพบว่า รูปแบบการดำเนินงาน ESG ของโลกกำลังพัฒนาไปอีกขั้น โดยพวกเขาไม่เพียงมอบเงินบริจาคแก่หน่วยงานต่างๆ และให้หน่วยงานเหล่านั้นเข้าไปช่วยเหลือด้วยวิธีการเยียวยาเดิมๆ แต่พวกเขากลับผันตัวเองเป็นหนึ่งในผู้คิดริเริ่มและวิจัยแนวทางการช่วยเหลือใหม่ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น สำหรับประเทศไทยในอนาคต เราคงจะได้เห็นผู้ประกอบการรวมถึงบริษัท Start up ต่างๆ เปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงาน ESG โดยการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานให้เกิดการพัฒนาในสังคมรวมถึงสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นไป