ตามติดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “รุกขกร” ภายใต้โครงการ สายไฟใจดี ของกองทุน ‘BKIND’

ตามติดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “รุกขกร” ภายใต้โครงการ สายไฟใจดี ของกองทุน ‘BKIND’

โครงการ สายไฟใจดี เป็นหนึ่งในโครงการที่ กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) เข้าไปสนับสนุน ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการโดย บริษัท รักษ์ไม้ใหญ่ วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม Big Trees โดยในช่วงเดือน ก.พ. 2561 – ม.ค. 2562 BKIND สนับสนุนงบประมาณโครงการนี้ไปทั้งสิ้น 494,400 บาท โดยหนึ่งในกิจกรรมที่โครงการนี้ทำ และทีมงานกองทุนบัวหลวงได้ลงพื้นที่ไปร่วมสังเกตการณ์ คือ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการตัดแต่งต้นไม้ (รุกขกรรมขั้นต้น) ในโอกาสนี้จึงได้มีการสัมภาษณ์ตัวแทนของบริษัท รักษ์ไม้ใหญ่ วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงวิทยากรที่มาให้ความรู้ และผู้เข้าร่วมอบรมด้วย

เริ่มจาก คุณอรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท รักษ์ไม้ใหญ่ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ Big Trees ผู้รับผิดชอบโครงการสายไฟใจดี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของกลุ่ม Big Trees และเครือข่าย ด้วยการสนับสนุนของกองทุนรวม คนไทยใจดี ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เราก็จะเน้นสร้างบุคลากรที่มีความรู้มีทักษะในการดูแลตกแต่งต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเมืองที่มีคนอยู่มากๆ และมีมลภาวะ เพราะต้นไม้ช่วยลดมลภาวะ ทำให้อากาศร้อนๆ นั้นเย็นขึ้น

สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีคนเชี่ยวชาญดูแลให้ต้นไม้ใหญ่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็มีความแข็งแรงด้วย

1 ปีที่ผ่านมาดำเนินการไปเกิน 10 รุ่น ประมาณ 12-15 ครั้งที่ได้จัดอบรม จัดสาธิตการดำเนินงานตัดแต่งต้นไม้ แนวสายไฟ แนวถนนสาธารณะ กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา มหาสารคาม หรือเชียงใหม่

สำหรับคนที่เข้ามาอบรมก็หลากหลาย ทั้งคนทั่วไปที่ต้องการยึดอาชีพนี้ คือเปลี่ยนมาเป็นรุกขกรหรือมืออาชีพในการดูแลต้นไม้ใหญ่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กรุงเทพมหานคร ที่มาอบรมกับเราแล้ว 6 รุ่น และกำลังจะเข้าอบรมต่อปีนี้ 2-3 รุ่น นอกจากนี้ยังมีบุคลากรของการไฟฟ้า เทศบาล กรมทางหลวงด้วย เป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับต้นไม้ แต่เขาอาจไม่ได้รับการฝึกอบรมที่เข้มข้น

แนวทางที่เราทำ การอบรมจะใช้เวลา 3-6 วัน ส่วนใหญ่จะใช้การปฏิบัติมากๆ คือแน่นอนมีการบรรยาย ให้ความรู้ในเชิงวิชาการ แต่สิ่งที่เราเน้นมากๆ คือทุกคนที่เข้ารับการอบรมจะปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์จริงและต้นไม้จริงๆ เลย แล้วเราก็พบว่าหลายๆ คนที่มาอบรมกับเราแล้วกลับไปที่หน่วยงานหรือที่จังหวัดที่อยู่ ก็ได้ไปทำงานกับต้นไม้โดยตรง โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีว่าต้นนี้จะตัดทิ้งหรือตัดแต่งได้ หลายครั้งก็ทำให้เกิดการคลี่คลายปัญหาขัดแย้ง ไม่ต้องตัดทิ้ง สามารถเก็บต้นไม้นั้นไว้ได้ เช่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือแม้แต่กรมราชทัณฑ์ก็ให้เราเข้าไปฝึกอบรมให้ด้วย

คุณอรยา กล่าวว่า หลังจากที่ดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างคน สร้างรุกขกรอาชีพขึ้นมา เราก็ได้เครือข่ายคนหนุ่มสาวที่สนใจมาดูแลต้นไม้ในเมืองอย่างจริงจัง เราก็เลยตั้งเป็นสมาคมรุกขกรรมไทย เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยแล้วเรียบร้อย มีนายก มีกรรมการ ทุกคนเป็นรุกขกรอาชีพ และเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมด้วย

เมื่อมีสมาคมแล้วเราก็จะยกระดับการฝึกอบรมให้เป็นขั้นสูงขึ้น รวมทั้งสร้างผู้ที่จะมาเป็นวิทยากรเพิ่ม ก็จะเป็นหลักสูตร เทรน เดอะเทรนเนอร์ โดยตอนนี้กำลังพูดคุยกับกรมป่าไม้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพรุกขกรร่วมกับกรมป่าไม้ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะยื่นเรื่องเข้าไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้อนาคตอันใกล้ หากหน่วยงานใดต้องการเปิดรับตำแหน่งรุกขกร ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร เทศบาล จะได้มีข้อกำหนดจากกระทรวงแรงงานมาเลยว่าถ้าเรียกรุกขกรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จะมีการคัดเลือกอย่างไร

แล้วเราก็เชื่อมต่อกับองค์กรระหว่างประเทศค่อนข้างเยอะ โดยปลายเดือน มิ.ย. ได้ส่งตัวแทนไปร่วมอบรม ประชุม และแข่งขันปีนต้นไม้แบบรุกขกรที่ไต้หวัน และเดือน ก.ค. จะเข้าร่วมงานที่สิงคโปร์ ขณะที่สมาคมรุกขกรไทย ในอนาคตจะกลายเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ ISA หรือ International Society of Arboriculture ซึ่งจะทำให้นอกจากเราจะเป็นที่รู้จัก ก็จะยกระดับมาตรฐานการทำงานด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ราชบัณฑิตและศิลปินแห่งชาติ สาขาภูมิสถาปัตยกรรม ผู้บรรยายทฤษฎีความรู้พื้นฐานด้านงานรุกขกรรม ให้กับผู้อบรมในกิจกรรมนี้ กล่าวกับทีมงานกองทุนบัวหลวงว่า คนทั่วไปควรมีความรู้เรื่องนี้บ้างเพราะเป็นวิชาชีพใหม่ เขาอาจจะคิดว่าคนรับจ้างตัดมาจากไหนก็ได้ ตัดแล้วขนไปก็จบ ผลเสียก็ตามมาทีหลัง แต่พอถึงเวลาจะตัด หาคนที่มีความรู้จริงก็ขาด ก็ต้องมีการอบรม อย่างเช่นกลุ่ม Big Trees อบรมเป็นเรื่องราว เป็นหลักสูตร

ทั้งนี้ การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่โดยถูกต้อง ถูกวิธี มีความรู้ ทำให้อันตรายทางสาธารณะลดน้อยลงไปบ้าง เพราะหากต้นไม้ล้มทับรถคันหนึ่ง ความเสียหายก็ตามมามาก ยิ่งถ้าไม่ได้ทำประกันไว้ก็อาจหมดตัวได้

“ต้นไม้ที่มีปัญหาแล้ว คนธรรมดาดูไม่ออก คนต้องมีความรู้ด้านรุกขกรรม รู้จักต้นไม้ใหญ่ ปัญหาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ดูแต่ตัดข้างบนเฉยๆ ต้องรู้สรีระ รู้อันตรายที่มีศักยภาพจะเกิดด้วย การสร้างบุคลากรด้านนี้จึงมีความสำคัญ เวลานี้ถ้าจะพูดถึงทั้งประเทศ เราต้องการระดับลงมือทำงานเป็นแสนคน เป็นการสร้างงานที่สำคัญ การไฟฟ้าก็ต้องการมาก โดยเฉพาะการไฟฟ้าภูมิภาค บริษัทอสังหาริมทรัพย์ สำคัญที่สุดคือท้องถิ่น เทศบาล อบต อบจ กรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวงแผ่นดิน เกี่ยวกับต้นไม้ทั้งนั้น ถ้าเผื่อตัดแต่งให้ถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะลดภาระงานในการตัดแต่งลงไปเยอะ ต้นไม้แข็งแรง อันตรายสาธารณะก็ลดน้อยลง ภาระความรับผิดชอบทางทรัพย์สินและชีวิตก็ลดลง ที่สำคัญที่สุดคือสวยงาม” ศาตราจารย์กิตติคุณ เดชา กล่าว

ทีมงานกองทุนบัวหลวง ได้ลองไปสัมภาษณ์ผู้ร่วมอบรมกันบ้างว่า ทำไมจึงได้มาอบรม และคิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรกลับไป โดย คุณชาย เกษมอมรกุล พนักงานบริษัทเอกชน ผู้ฝึกอบรมรุ่นที่ 8 กล่าวว่า โครงการนี้ ได้เห็นความคืบหน้ามาเป็นระยะว่าโครงการนี้ได้สร้างบุคลากรอย่างไรบ้าง โดยส่วนตัวเองมีความรู้ด้านนี้น้อยแต่เจอปัญหาเกี่ยวกับต้นไม้ค่อนข้างเยอะ ก็เลยเป็นเป้าหมายว่าสักครั้งต้องเรียนรู้ให้ได้แล้วก็นำไปใช้จริง จาก 6 วันที่อบรม ถือว่าสิ่งที่ได้รับเกินความคาดหมาย วิทยากรทั้ง 2 ท่าน ให้ความรู้ ความเข้าใจ ยกตัวอย่าง ยกประโยชน์การนำความรู้ไปใช้ได้ดีมาก คิดว่ากลับไปคงต้องมีการพลิกโปรเจ็กอะไรบางอย่างไม่ว่าจะเป็นที่หมู่บ้าน หรือที่ทำงานก็ตามคงจะมีการสานต่อให้ต้นไม้ที่ได้เห็นต่อไปนี้มีหน้าตาที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้นแน่นอน

คุณกฤตยชญช์ นาถ้ำพลอย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ฝึกอบรมรุ่นที่ 5 และครูฝึกอบรมรุ่นที่ 8 กล่าวว่า ครั้งแรกที่มาอบรม ตอนแรกก็ยังไม่รู้จักคำว่ารุกขกรคืออะไร ต่อมาก็ศึกษาเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ เพราะตอนเด็ก ชอบต้นไม้ใหญ่มาก เพราะที่บ้านมีต้นไม้ใหญ่เยอะ พอเราเรียนไปแล้วก็เริ่มดูต้นไม้เป็นว่าต้นไม้ต้องควรทำอะไรบ้าง หลังจากเรียนหลักสูตรนี้จบ ก็ได้ทดลองตัดต้นไม้จริง ก็รู้สึกว่าต้นไม้มีประโยชน์ มีโทษอย่างไร เมื่อเราตัดให้ถูกต้องก็จะมีประโยชน์กับเรา ก็ลองไปตัดที่บ้าน ดูแลบ้าน ป้องกันอันตรายจากต้นไม้ใหญ่ที่อยู่รอบบ้าน

เหล่านี้คือตัวอย่างของกิจกรรมดีๆ ที่ BKIND เข้าไปร่วมสนับสนุน