By… เสกสรร โตวิวัฒน์
ในบรรดา 3 ช่วงชีวิตหลัก ระหว่าง วัยเด็ก วัยทำงาน กับ วัยพักผ่อน นั้น ในการวางแผนต่างๆ มักจะพูดถึงวิธีการวางแผนในช่วงวัยทำงานที่เป็นช่วงเวลาสะสมความมั่งคั่งมากกว่าวัยอื่นๆ ส่วนเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณก็ยังไปเน้นหนักในช่วงวัยทำงานว่าช่วงอายุไหนจะเก็บเงินอย่างไรให้มีเงินใช้หลังเกษียณให้เพียงพอตามสูตรคำนวณ โดยมักละเลยการเตรียมพร้อมด้านการเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุขได้อย่างแท้จริง ทั้งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่ออายุ 60 กับ 80 เราคงจะไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนกันทั้งสองวัยแน่ๆ
การประเมินความพร้อมของตัวเองล่วงหน้าว่าภายหลังเกษียณจะเป็นอย่างไร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการสร้างความสุขให้ชีวิต เพราะถ้าไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่รู้ว่าจะสร้างความสุขให้ชีวิตหลังเกษียณอย่างแท้จริงได้อย่างไร
การวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณนอกจากสิ่งต่างๆ รอบตัวแล้ว การประเมินสุขภาพตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราพอรู้ล่วงหน้าได้ว่า ช่วงไหนวัยใดเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของบุคคลวัยทองคือ การไม่ยอมรับว่าตนเองแก่แล้ว รับไม่ได้กับการถูกลดทอนคุณค่า น้อยใจกับการถูกลูกหลานขอให้อยู่เฉยๆเหมือนให้นั่งเฉยๆ รอวันตาย แม้ว่าหลายครั้งจะเป็นความปรารถนาดีก็ตาม
วิธีการเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับเรื่องนี้ ขอแนะนำให้ลองเฝ้าดูผู้สูงวัยในบ้านในวันที่เรายังคงเป็นวัยทำงานมีเรี่ยวแรง แล้วจดจำไว้ว่าในวันนี้เรามองดูผู้สูงวัยเหล่านี้อย่างไร เพราะในอนาคตเมื่อถึงวันนั้น เราก็จะเผชิญกับมุมมองของลูกหลานในแบบเดียวกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ปัญหาสุขภาพเริ่มแสดงออกชัดเจน แต่ยังคงมีแรง สติยังคงแจ่มใส มักไม่ยอมรับปัญหาความชราที่ลูกหลานกำหนดให้ ต้องการแสดงออกถึงความสามารถโดยการทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ในอดีตโดยละเลยปัญหาสุขภาพ ซึ่งกรณีนี้มักจะเป็นช่วงผ่านการเกษียณมาแล้วระยะหนึ่ง เช่นช่วงอายุตั้งแต่ 65-70 ปี
ดังนั้น ความเข้าใจภาวะทางอารมณ์และสุขภาพของผู้เกษียณในแต่ละช่วงวัยจึงสำคัญยิ่ง