By… เสกสรร โตวิวัฒน์
ถ้าจะสรุปลักษณะร่วมกันของคนวัยหลังเกษียณ ก็คือ วัยที่มีรายได้น้อยลง ค่าใช้จ่ายตามการใช้ชีวิตเดิมๆ น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกลับมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมีโอกาสสูงมากที่จะเกินกว่ารายได้รายเดือน ยิ่งสูงวัยมากขึ้น รายได้ก็หดหายลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน เหลือแต่ดอกเบี้ย เงินปันผล จากเงินเก็บเงินออมเงินลงทุนที่สั่งสมมา เงินบำนาญจากราชการ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และบำนาญจากประกันสังคมไม่กี่ร้อยบาท
ดังนั้น แผนการจัดการหนี้สินเงินทองที่ชาญฉลาด ที่อดทนเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตจะมีความสำคัญอย่างที่สุด โดยเฉพาะคนโสด คนแต่งงานแต่ไม่มีลูก หรือแม้แต่คนที่มีลูก แต่เขาไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูเรา ด้วยหลายๆ ปัจจัย
· ทำอย่างไร ให้เงินที่มีเพียงพอต่อการใช้ไปจนลมหายใจสุดท้าย
· ทำอย่างไร กับหนี้สินก้อนใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่
· ทำอย่างไร ให้เงินออมที่มียังคงงอกเงย ให้ผลตอบแทน
· ทำอย่างไร ให้เงินออมไม่ต้องไปลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงจนเกินไป
สำหรับการวางแผนจัดการเงินทองวัยหลังเกษียณ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดรับที่หดหาย (ลดลง) และการวางแผนการใช้จ่ายสำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ให้ได้ก่อนใช้เงินก้อน
คนวัยเกษียณจะว่างและมีเงินก้อนในมือ จะอยากใช้จ่ายอยากให้รางวัลกับชีวิต ต้องประมาณให้ดีก่อนใช้ ไม่เช่นนั้นเงินอาจหมดได้
ตรวจสอบสวัสดิการด้านสุขภาพของตัวเองว่ามีอะไรอยู่บ้าง สิทธิข้าราชการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของคนวัยนี้ และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยโดยเด็ดขาด
ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือ วางแผนหาวิธีจัดการให้ได้ ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ถ้าไม่จำเป็น เพราะดอกเบี้ยมีแต่พอกพูน
คำนวณให้มั่นใจว่าเงินที่มีอยู่และที่จะได้รับระหว่างเกษียณ เช่น บำนาญ เงินคืนจากประกันแบบบำนาญ เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงชีวิตที่เหลือหรือไม่