กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) และกองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BSIRIRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) และกองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BSIRIRMF)

ปัจจัยบวกหุ้นไทย

  1. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา นโยบายรัฐจะเน้น “บรรเทา” เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือเลือกช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจก่อน ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ มีความเป็นไปได้ที่จะทำในกลุ่มที่ยังมีกำลังจับจ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ
  2. สภาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ซึ่งน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นในประเทศผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในปลายเดือน ก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค. ซึ่งงบดังกล่าว จะถูกเร่งรัดใช้ให้หมดภายในเดือน ก.ย. ดังนั้น งบจะถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้
  3. สหรัฐฯ และจีน ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกอย่างเป็นทางการ ทำให้ในระยะสั้นคลายความกังวลเรื่องสงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปได้บ้าง
  4. ท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มเติบโต จากนักท่องเที่ยวจีน โดยช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจน และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายหลัก คือเป็น “จุดหมาย” อันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง และสงครามในโซนตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น
  5. ในปี 2562 ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (MSCI DM Index) ให้ผลตอบแทน 25% ดีกว่าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (MSCI EM Index) ที่ให้ผลตอบแทน 15% แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยกลับให้ผลตอบแทนเพียง 1% จึงมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยถ้าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่งสัญญาณปรับตัวขึ้น

ปัจจัยกดดันหุ้นไทย

  1. ปัจจัยในประเทศ เรื่องปัญหาภัยแล้ง ปีนี้คาดว่าจะเป็นความเสี่ยงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
  2. ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้รับเลือกตั้งมา มีการเปลี่ยนมุมมองกลับไปกลับมาเรื่องการค้ากับจีนค่อนข้างสูง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่นักลงทุนยังคงกังวล
  3. ค่าเงินบาทผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกดดันการส่งออกและรายได้ของเกษตรกร
  4. ยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ว่าจะลุกลามเป็นสงครามในตะวันออกกลางหรือไม่? ถึงแม้ว่าจะส่งสัญญาณคลี่คลาย แต่สหรัฐฯ ยังมีแนวคิดที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรอบใหม่เป็นการตอบโต้อิหร่านอยู่

เป็นปัจจัยบวกต่อกองทุน BSIRICG และ BSIRIRMF อย่างไร?

  1. ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ จะกระตุ้นให้คนมีพฤติกรรมแสวงหากำไรมากขึ้น (search for yield) ดังนั้น พวกกลุ่มหุ้นปันผลจะดูโดดเด่น ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องในปีนี้
  2. การจ่ายปันผลประจำปีจะอยู่ระหว่างช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. เป็นต้นไป หากนับเฉพาะเดือน มี.ค. ก็มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กำหนดจ่ายปันผลราว 200 บริษัท ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะจะเข้าซื้อกองทุนเน้นลงทุนหุ้นปันผลก็จะอยู่ในเดือน ม.ค.
  3. ภาวะดอกเบี้ยต่ำทำให้ Earning Yield Gap ตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 4.53% ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยบวก หนุนให้กลุ่ม Dividend Play & Value Stock เป็นที่สนใจมากขึ้น ซึ่งตรงกับ Portfolio strategy ของกองทุน BSIRICG และ BSIRIRMF ที่เน้นหุ้นลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์หุ้นที่มี CG Scoring โดยเน้นหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง (Market Capitalization) หรือมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ หรือมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงและต่อเนื่อง

Portfolio Positioning Perspective : B-SIRICG และ BSIRIRMF

ณ ปัจจุบัน BSIRICG และ BSIRIRMF ลงทุนในหุ้นจำนวน 48 บริษัท และ Turnover Ratio (%) อยู่ที่ 70.22 และ 31.64 ตามลำดับ โดย

BSIRICG และ BSIRIRMF Underweight : 

ธนาคาร – บนพื้นฐานมุมมองว่า ธุรกิจธนาคารยังไปได้ดี แต่อาจโดนกดดันด้วย ผลกระทบเชิงอ้อมจากภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอลง แรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

BSIRICG และ BSIRIRMF Overweight :

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร – ความต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก

  1. คุณภาพของโครงข่ายที่ดีขึ้น เพิ่มความนิยมใช้งานด้านข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ เช่น การใช้งานอินเทอร์เน็ต บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง การใช้งานโซเชียลมีเดีย การทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น
  2. นโยบายภาครัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการเน็ตประชารัฐและเน็ตชายขอบ ทำให้มีการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในต่างจังหวัดกระตุ้นความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้บริโภคในพื้นที่ใหม่ๆ
  3. ภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับสู่โลกดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการขายและการตลาด (E-Commerce)

พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ – มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% และส่งผลบวกต่อกลุ่ม หลังจากที่โดนกดดันจากมาตราการ LTV ขณะที่พื้นที่ EEC ยังน่าสนใตจากปัจจัยหนุน

  1. การขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย คาดจะมีการย้ายฐานการลงทุนมาไทย จากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
  2. การเดินหน้าของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตาม
  3. ความได้เปรียบเชิงพื้นที่ของไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนรองรับการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์
  4. การเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนและการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ

เงินทุนและหลักทรัพย์ – สถานการณ์ธุรกิจยังเดินหน้าเติบโตได้ดี ขับเคลื่อนด้วยความต้องการด้านสินเชื่อที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ด้านธุรกิจเช่าซื้อยานยนต์ ยังคงเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลบวกจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะทยอยส่งผลบวกต่อภาคเศรษฐกิจ รวมถึงทำให้เกิดความต้องการรถยนต์เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าอาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเปลี่ยนรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีดีขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้น

พลังงานและสาธารณูปโภค – ธุรกิจน้ำประปา รายได้ และกำไรไม่ผันผวนมาก และมั่นคง ทำให้จ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงาน เช่น ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นตามไปด้วย และส่งผลให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ อาจต้องส่งผ่านเรื่องต้นทุนไปยังค่าไฟฟ้าให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะที่ส่วนกำไรจากสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าหรือที่เรียกว่าค่าความพร้อมจ่าย (AP) ซึ่งปกติโรงไฟฟ้าจะได้ค่า AP อยู่แล้ว หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการเรียกไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนก็จะส่งผ่านต้นทุนไปยัง กฟผ. ด้วย