นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ที่ 5-22 บาท ตามแต่พื้นที่ในแต่ละจังหวัดที่ทุกจังหวัดให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561
พร้อมออกมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3 มาตรการ คือ
1.มาตรการลดหย่อนภาษี โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าแรงให้ลูกจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.15 เท่า โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนไปจนถึงสิ้นปีนี้ เงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่จะลดหย่อนได้คือ บริษัทต้องมีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน คาดว่ารัฐจะเสียงบประมาณ 5,400 ล้านบาท
2.การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ด้วยวงเงิน 5,000 กว่าล้านบาท โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการจัดสัมมนาและอบรมในการพัฒนาสถานประกอบการ จากการประเมินพบว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 0.5-1% แต่จากการอบรมเข้าโครงการจะช่วยลดต้นทุนเอสเอ็มอี 10% คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 50,000 แห่ง มีผู้ประกอบการประมาณ 250,000 คน ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบเท่านั้น
3.การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับผู้ประกอบการที่มีการนำเครื่องจักรมาปรับปรุงและมีการนำระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการจัดการธุรกิจ โดยให้ยกเว้นเป็นเวลา 3 ปี และขยายขอบเขตการอบรมบุคลากรของผู้ประกอบการให้มากขึ้น
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดย แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ 308 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 310 บาท 22 จังหวัด 315 บาท 21 จังหวัด 318 บาท 7 จังหวัด 320 บาท 14 จังหวัด 325 บาท 7 จังหวัด และ 330 บาท ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรีภูเก็ตและระยอง