กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม (B-INCOME)

กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม (B-INCOME)

สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุน

บรรยากาศการลงทุนในช่วงปลายปี 2562 มีความผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกันได้ ประเด็นที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปคลี่คลายลง และแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมทั้งปี 4.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมปี 2562 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 1.02% ซื่งเป็นการปรับตัวได้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านและตลาดหุ้นโลก

ในขณะที่ ปัจจัยต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เริ่มมีทิศทางที่ผ่อนคลาย แต่ปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ทำให่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนในช่วงต้นเดือนมกราคม ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่แพร่จากเมืองอู่ฮั่นของจีนในปลายเดือนมกราคม ส่งผลให้ภาคธุรกิจจีนและการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราวและประเทศต่างๆ ยังต้องหาวิธีการรับมือเพื่อไม่ให้ขยายวงกว้าง แต่ก็ยังทำให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้

นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าจะเจอปัจจัยลบจากโรคระบาด แต่ตลาดหุ้นหลักๆ นอกตลาดเอเชีย ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดเอเชีย ส่วนใหญ่ยังให้ผลตอบแทนติดลบ เนื่องจาก เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย มีความเชื่อมโยงกับประเทศจีนมากกว่าทั้งภาคการผลิต การค้า และการลงทุน ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ถูกชะลอออกไป

ด้านเศรษฐกิจไทย เผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ ภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ล่าช้า ทำให้ภาคการบริโภคในประเทศเริ่มได้รับผลกระทบ ส่งผลให้หลายสำนักเริ่มมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลง โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง 4.1% ในเดือนมกราคม ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกและเอเชีย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยอีก 1.73 หมื่นล้านบาท เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

โดยภาพรวมแล้ว แม้ว่าตลาดจะยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ดัชนีที่ปรับตัวลดลงมา และตัวเลขประมาณการ EPS ในปีนี้ ที่ปรับลดลงมาแล้ว จาก 102 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ 98 บาทต่อหุ้น ก็ได้มีการรับรู้ปัจจัยลบไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งด้านการเงินและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ประเทศไทยเอง แบงก์ชาติก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ เรามองว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นในช่วงนี้ จึงเป็นโอกาสในการเลือกซื้อหุ้นรายตัว ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี สำหรับการลงทุน

สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ทั้งปี 2562 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง (ราคาเพิ่มสูงขึ้น) ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ประกอบกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.25% จากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงความตึงเครียด ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับ Foreign Fund Flow ในส่วนของตราสารหนี้ทั้งปี ประเทศไทยมี Net Fund Outflow จำนวน 8.4 หมื่นล้านบาท จากแรงขายกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเป็นการขายทำกำไรหลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงราคาตราสารหนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ระดับ 9.17 แสนล้านบาท (ลดลงจากปลายปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 9.86 แสนล้านบาท)

ตลาดหุ้นกู้บริษัทเอกชนในปี 2562 มีการออกหุ้นกู้ใหม่รวม 1.02 ล้านล้านบาท ปรับสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปริมาณการออกหุ้นกู้ของทั้งปี 2561 ที่ระดับ 7.4 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้มีการซื้อกิจการใหญ่หลายโครงการ จึงต้องมีแหล่งเงินทุนจากการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม รวมถึงเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ผลตอบแทนหุ้นกู้ โดยพิจารณาจาก Credit Spread

สำหรับ หุ้นกู้ในกลุ่ม A และ BBB ปรับเพิ่มขึ้น 12-71 bps ขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม AA มี Credit Spread คงที่ และกลุ่ม AAA มี Credit spread ลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่า การออกหุ้นกู้ในปี 2563 จะปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

ในช่วงเดือนแรกของปี 2563 ข้อมูล ณ 31 มกราคม 2563 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุประมาณ -1 ถึง -18 bps โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำมากที่ 1.08% (-10 bps) และ 1.31% (-18 bps) ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือพันธบัตรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ในพันธบัตรรัฐบาลไทยยังมีสาเหตุมาจากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินด้วย ซึ่งเมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 1.25% มาอยู่ที่ 1.00% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับลงมาเพียง 2 bps จากวันก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.04% และ 1.29% เท่านั้น เพราะตลาดได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลักของโลก มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากการประชุมธนาคารกลางของหลายประเทศในเดือนมกราคม ส่วนใหญ่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ได้แก่ วันที่ 28-29 ม.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% – 1.75% วันที่ 23 ม.ค. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% วันที่ 20-21 ม.ค. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และวันที่ 30 ม.ค. ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75%

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะยังคงผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งหากการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างต่อเนื่องจะฉุดให้เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด แนวโน้มอุปทานพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Supply) หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้าออกไป รวมถึงประเด็นการกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก

ด้านการดำเนินนโยบายการเงินของไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.0% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในระยะต่อไป

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเข้าไปคำนวณในดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในดุลบริการ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคสามารถยังไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับ การค้าระหว่างประเทศของไทยยังไม่ดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2563 นี้ น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จาก 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 และจากตัวเลขประมาณการปี 2562 ที่ 3.72 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากมุมมองดังกล่าวจึงประมาณกรอบการเคลื่อนไหวของ USDTHB ที่ 29-32 บาท

กลยุทธ์การลงทุน

นโยบายการลงทุน : กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัมมีนโยบายกระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ในสัดส่วน ตั้งแต่ 0% ถึง 100% ของ NAV และสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% ของ NAV

  • ตราสารหนี้ และ/หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
  • ตราสารทุน
  • หน่วยลงทุนของกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) เป็นต้น
  • หน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ ในสัดส่วนไม่เกิน 60% ของ NAV
  • เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก

ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนใน Derivatives และ/หรือ Structured Note

ข้อมูล ณ 31 มกราคม 2563 กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 5.88% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2.65% ล่าสุดกองทุนมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 อยู่ที่หน่วยละ 0.081750 บาท รวมทั้งปี 2562 มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งสิ้น 4 ครั้ง เป็นเงินรวมหน่วยละ 0.396596 บาท

ในปี 2562 กลุ่มหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่น คือ กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยดัชนี SET Property Fund and REITs ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.46% ขณะที่ ดัชนีผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ (SET) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.02% กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 14.34% (31 มกราคม 2563) ในไตรมาสที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนได้มีการขายทำกำไรบางส่วนในกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเห็นว่า หลักทรัพย์บางตัวราคาขึ้นมาเต็มมูลค่าแล้ว และได้ซื้อกลับในจังหวะราคาที่เหมาะสม เพราะผู้จัดการกองทุน มองว่า อัตราเงินปันผลยังน่าสนใจ อยู่ที่ประมาณ 5.5% สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITs และ 7.8% สำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ในส่วนของตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นที่มีลักษณะ ดังนี้ 1) มีประวัติการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ 2) มีอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ในระดับสูง 3) มองเห็นแนวโน้มการเจริญเติบโตของธุรกิจและเงินปันผล มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็งมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวกต่อกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้

กลุ่มธนาคาร : เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มนี้ลงมามาก สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดตอบรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการไปมากแล้ว จนทำให้มูลค่าหุ้นเริ่มกลับมามีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาว

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ : เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ โดยจะเน้นเลือกหุ้นรายตัวที่มี Earnings Visibility จากยอดโอน และ Recurring Income รวมถึงมีการให้ผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงสม่ำเสมอ

กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ : ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาด (Defensive Stock) และยังเห็นการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และการเปิดส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้น ในช่วงปลายปี กำไรจะยกฐานใหม่จากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาใหม่

สำหรับตราสารหนี้ยังคงเป็นสินทรัพย์หลักที่มีคุณค่าสำหรับพอร์ตการลงทุน ณ 31 มกราคม 2563 กองทุนลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ สัดส่วน 40.42% ตราสารหนี้เอกชนสัดส่วน 11.93% และกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ 6.89% อันดับความน่าเชื่อถือเฉลี่ยของตราสารที่กองทุนลงทุนอยู่ที่ระดับ AA- และมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ลงทุน (Duration) ประมาณ 0.9224 ปี โดยผู้จัดการกองทุน มองว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำ 1.0% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และนโยบายการเงินอาจมีบทบาทน้อยลง

ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ภัยแล้ง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า รวมถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และ Foreign Fund Flow โดยผู้จัดการกองทุนจะใช้โอกาสที่อัตราผลตอบแทนที่อาจปรับตัวขึ้นเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน โดยที่ยังคง Duration ของพอร์ตไว้ที่ประมาณ 1-3 ปี และมุ่งหวังผลตอบแทนระยะสั้นถึงกลางให้สูงกว่าดัชนีชี้วัด เน้นการลงทุนทั้งในตราสารภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสอดคล้องเหมาะสมกับความเสี่ยง รวมถึง
การแบ่งสัดส่วนไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสให้กองทุนมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

สัดส่วนการลงทุนของกองทุน (% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ)

สัดส่วนการลงทุนตราสารทุนในประเทศแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม (% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ)

ผลการดำเนินงานกองทุนย้อนหลัง (ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2563)

ประกาศรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติของกองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม