หอการค้าออสเตรเลียประจำสิงคโปร์ ได้ร่วมกับหอการค้าออสเตรเลียในกลุ่มประเทศอาเซียน จัดทำรายงานผลสำรวจ “ธุรกิจออสเตรเลียในอาเซียน ประจำปี 2017” เพื่อสำรวจความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคของการทำธุรกิจของบริษัทชาวออสเตรเลียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Jane Duck เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำอาเซียน ระบุว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง ทั้งอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.5% ต่อปี การขยายตัวของกำลังซื้อ และจำนวนประชากรอายุน้อย ทำให้ตอนนี้อาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุน แต่อาเซียนต้องขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนด้านแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ออสเตรเลียสามารถเข้าร่วมได้อย่างเหมาะเจาะ เนื่องจากออสเตรเลียมีความถนัด เช่น ด้านโลจิสติกส์ เหมืองแร่ การศึกษา ธุรกิจสุขภาพ การเกษตร และการศึกษาที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนออสเตรเลียสนใจในภูมิภาคนี้ ได้แก่ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนถึง 36% การขยายตัวของฐานชนชั้นกลาง มากถึง 61% ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการทำธุรกิจ คือ ปัญหาคอร์รัปชั่น 42% การไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 37% การขาดแคลนแรงงานฝีมือ 35% และช่องว่างของโครงสร้างพื้นฐาน 22%
รายงานเล่มล่าสุดระบุว่า กลุ่มธุรกิจหลักของออสเตรเลียในอาเซียน คือ ธุรกิจบริการมีสัดส่วนถึง 22% ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน 10% บริการทางการเงิน 9% และอุตสาหกรรมการผลิต 9% โดยเวียดนามแซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ในฐานะเป้าหมายที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของการลงทุนจากออสเตรเลีย ตามมาด้วยเมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นเป้าหมายรองลงมาตามลำดับ
หนึ่งในเหตุผลที่เวียดนามเป็นเป้าหมายน่าลงทุนที่สุดของอาเซียนสำหรับนักลงทุนออสเตรเลีย เนื่องจากการเปิดการค้าเสรีอย่างเต็มตัว ด้วยการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีกว่า 16 ฉบับ และคาดการณ์จีดีพีระหว่าง 2017-2020 ที่น่าจะเติบโตกว่า 6%
การลงทุนโดยตรงจากออสเตรเลียในปี 2016 คิดเป็นมูลค่า 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมด โดยมีการลงทุนด้านการศึกษาและเทรนนิ่งเซ็นเตอร์มากถึง 22% ตามด้วยธุรกิจบริการและอสังหาริมทรัพย์ 22% และ 17% ตามลำดับ
ขณะที่เมียนมาที่เป็นเป้าหมายการลงทุนอันดับ 2 ของออสเตรเลีย โดยการลงทุนราว 50% เป็นด้านธุรกิจการศึกษา 25% ด้านการสื่อสาร และ 25% ด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่ไทย รายงานระบุว่าแม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ แต่รัฐบาลก็ได้เสนอนโยบายการลงทุนที่เอื้อต่อต่างชาติ โดยเฉพาะนโยบายด้านภาษี การลงทุนส่วนใหญ่
ในไทยจะเป็นอุตสาหกรรมการบริการ 33% โดยที่ผ่านมามีบริษัทออสเตรเลียชื่อดังมากกว่า 180 บริษัท เข้ามาทำธุรกิจในไทยเป็นระยะยาวกว่า 10 ปีขึ้นไป
ผลสำรวจยังระบุข้อมูลน่าสนใจว่า 42% ของบริษัทออสเตรเลียในอาเซียนเชื่อว่า การรวมตัวกันเป็นประชาคมของอาเซียน เป็นหัวใจสำคัญที่เพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจของพวกเขา (และมากถึง 35% จะใส่ความสำคัญของอาเซียนลงในกลยุทธ์การทำธุรกิจของตนเอง) ขณะที่มีเพียง 28% ที่มองว่าการมีอยู่ของประชาคมอาเซียนไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไร ขณะที่ 30% ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอาเซียน จึงตอบไม่ได้ว่าอาเซียนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร
อย่างไรก็ตาม 86% ของกลุ่มธุรกิจสัญชาติออสเตรเลียในอาเซียน จะขยายการลงทุนเพิ่มใน 5 ปีข้างหน้า และมีเพียง 2% เท่านั้นที่เล็งจะลดขนาดธุรกิจลง