By… เสกสรร โตวิวัฒน์, CFP
BF Knowledge Center
เวลาเลือกว่าจะลงทุนอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สิ่งที่นักวางแผนการเงินจะให้ความสำคัญมากกว่าความเสี่ยงที่ผู้รับคำปรึกษาจะยอมรับได้ก็คือ “ระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้” เพราะเป็นเงื่อนไขที่ผูกพันกับความเสี่ยงที่ผู้รับคำปรึกษาไม่อาจกำหนดเองได้
- รับความเสี่ยงได้สูง อายุยังน้อย ชอบเล่นหุ้น เก็บเงินไว้ดาวน์บ้านอีก 6 เดือนข้างหน้า
- จะเก่งแค่ไหน ก็ไม่ควรลงทุนหุ้น เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ไม่เหลือเวลาให้แก้ตัว
- รับความเสี่ยงได้น้อย แต่เก็บยาวไว้รอเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า
- จะกลัวแค่ไหน แบบนี้นักวางแผนการเงินก็ยังแนะนำให้มีหุ้นไว้บ้าง เพราะจะเสียโอกาสในการลงทุน
ไม่มีสูตรตายตัวว่าระยะเวลาลงทุนนานแค่ไหนถึงควรจะมีหุ้นไว้ในพอร์ต โดยทั่วไปเวลาลงทุนที่ยาวขึ้นก็สามารถลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น แต่จะลงทุนแค่ไหน ก็ค่อยดูเรื่องอื่นๆ ประกอบ เช่น การยอมรับความเสี่ยงเฉพาะตัว ระดับความสำคัญของเป้าหมายที่จะเก็บออม ความรู้ความเข้าใจเรื่องหุ้นของผู้รับคำปรึกษา ฯลฯ
ระยะเวลาการลงทุน โดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ระยะสั้น (0-3ปี) ระยะกลาง (3-7ปี) และระยะยาว (7ปีขึ้นไป)
การลงทุนระยะสั้นต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนในหุ้นให้มาก เพราะหากเกิดปัญหาจะไม่มีเวลาให้แก้ตัว ยิ่งปัจจุบันที่ตลาดหุ้นมีปัจจัยทั้งในประเทศและนอกประเทศมาเกี่ยวข้องมากมาย ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
หลายๆ คนอาจคิดว่ายาวเกินพอที่จะลงทุนในหุ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ลงทุนจะมีเวลาลงทุนไป 3 ปีไปตลอด เมื่อผ่านไป 1 ปี เวลาสำหรับลงทุนจะเหลือแค่ 2 ปี เมื่อผ่านไป 2 ปี ก็เหลือเวลาลงทุนแค่ปีเดียวเท่านั้น ถ้าตอนเริ่มต้นมีหุ้นในพอร์ตสัก 20% ยามที่เหลือเวลาลงทุนปีเดียวก็ควรปรับสัดส่วนให้เหลือแต่ตราสารหนี้เท่านั้น แล้วสมมุติว่าตอนแรกลงทุนในหุ้นไว้เยอะถึง 50% หาก 2 ปีแรกเกิดตลาดหุ้นไม่เป็นใจ ผ่านไป 2 ปี ขาดทุนในหุ้น เงินในพอร์ตเหลือไม่พอใช้ตามเป้าหมาย เหลือปีเดียวจะใช้เงินแล้ว จะเป็นอย่างไร
จะลงทุนหุ้นต่อเพื่อลุ้นเอาคืน หรือขายทิ้งมาใส่ตราสารหนี้แล้วหาเงินส่วนอื่นมาเติมแทน?