โดย…มทินา วัชรวราทร
Fund Management
รางวัล ASEAN Business Award ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีมากกว่า 100 บริษัทที่ได้รับคัดเลือก อย่างไรก็ตาม รางวัล ASEAN Business Award ประจำปี 2019 ที่ประกาศผู้ชนะไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน โดยมีประธานอาเซียนเอกชน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN – BAC Thailand) เป็นเจ้าภาพ รางวัลดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงรายชื่อของบริษัทที่มีผลการดำเนินการโดดเด่น ประสบความสำเร็จ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นรางวัลที่ไม่ได้มอบให้แต่บริษัทใหญ่ แต่ยังมอบให้กับบริษัท SME ในอาเซียนอีกด้วย จึงนับว่า รางวัลนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ทำความรู้จักกับบริษัทเล็กๆ ที่โดดเด่นในอาเซียน ที่อาจจะเป็น unicorn หรือสามารถเติบโตเป็น Regional และ Global Player และถึงแม้ว่า บริษัทเหล่านี้ อาจจะยังไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่การทำความรู้จักบริษัทเหล่านี้ ก็จะทำให้สามารถวิเคราะห์ตลาดและเข้าใจบริษัทอาเซียนมากขึ้น
ประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่ ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ กลุ่มธุรกิจ TCP โดยบริษัท T.C. Pharmaceutical Company ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้คุ้นมากนัก แต่เรารู้จักกันในชื่อเครื่องดื่มกระทิงแดง ผู้ผลิตและส่งออก กระทิงแดง (เรดบูล) ที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วโลก สินค้าของกลุ่ม TCP ถูกนำไปบรรจุเป็นกระป๋องกว่า 1 หมื่นล้านล้านกระป๋อง ใน 170 ประเทศทั่วโลก ทั้งมีแผนจะผลักดันยอดขายของบริษัทในปี 2022 ให้ถึงหนึ่งแสนล้านบาท
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย คือ กลุ่ม TCP จัดตั้งบริษัทที่เวียดนาม เมื่อปลายปี 2018 ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 96 ล้านคน อีกทั้งวัฒนธรรมที่คนเวียดนามขยัน ทำงานหนัก จึงเป็นเรื่องปกติที่จะบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังจะไปพร้อมกับการรับประทานอาหาร ประกอบกับมูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนามที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 25,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 6% ซึ่งขยายตัวสูงเป็นรองจากจีนเท่านั้น ดังนั้น ในเวียดนาม ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP จึงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องกว่า 25% ซึ่งมากกว่าตลาดโดยรวม
หากพูดถึงความเสี่ยงของกระทิงแดง คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า รถยนต์ไร้คนขับ เป็นความเสี่ยงของกระทิงแดง เนื่องจากช่วงเวลาที่คนดื่มเครื่องดื่มกระทิงแดง คือ ตอนขับรถระยะไกล หากไม่ได้ต้องขับรถแล้ว ก็อาจจะบริโภคกระทิงแดงน้อยลง จึงต้องพร้อมรับความเสี่ยง ด้วยการตั้ง TCP Incubator เพื่อ disrupt ตัวเอง ก่อนคนอื่นจะ disrupt เรา
สำหรับบริษัทไทยที่ได้รับรางวัลบริษัทประเภท SME เป็นบริษัทที่คิดต่าง รวมทั้งสามารถสร้างแบรนด์ด้วยตัวเอง จนสามารถส่งออกไปยัง 30 ประเทศภายใน 2 ปี และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ นั่นคือ บริษัท Simple Food ผู้ผลิตนมอัลมอนต์ 137 Degree ที่ถึงแม้ว่า บริษัทนี้จะมีอายุเพียง 5 ปี และบริหารงานโดยสุภาพสตรี วัย 30 แต่ก็สามารถหาช่องว่างทางโอกาสของคนแพ้นมวัว ที่ต้องการดื่มนมทางเลือก ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตขึ้นมาได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการสร้างยอดขาย พร้อมขยายธุรกิจกับผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก โดยเริ่มจากการบรรจุผลิตภัณฑ์แบบขวดแก้วและฝากขายตามร้าน จนพัฒนามาเป็นแบบบรรจุกล่อง ปลายปี 2561 บริษัทลงทุนสร้างโรงงานผลิตน้ำนมอัลมอนต์คั้นสดในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกในอาเซียน
ปี 2558 รายได้ อยู่เพียง 4.6 ล้านบาท กำไร 800,000 บาท
ปี 2559 รายได้อยู่ที่ 60 ล้านบาท กำไร 24 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ก้าวกระโดดไปที่ 109 ล้านบาท กำไร 34 ล้านบาท โดยกำไรเติบโต 41% จากปี 2559
ส่วนบริษัทไทยขนาดใหญ่ที่ได้รับรางวัล คือ พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เป็นรางวัลประเภทธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ระดับอาเซียน และรางวัลสำหรับธุรกิจที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงรางวัลสำหรับธุรกิจที่มีความโดดเด่นเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน โดย PTG เป็นบริษัท holding ที่มีรายได้ 95% มาจากสถานีน้ำมัน PTG และมีรายได้ที่ไม่ใช่น้ำมัน จากธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และค่าเช่า เช่น รายได้จากการถือหุ้น Coffee World, Cream & Fudge, New York 5th Av. Deli และ Thai Chef Express PTG ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สร้างชื่อเสียงจากปั๊มที่มีในต่างจังหวัด ขยายตัวจนมีจำนวนปั๊มเป็นอันดับสอง รองจาก ปตท. ขณะที่ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในประเทศ มีสัดส่วนเป็น 11.5% ของตลาดทั้งหมด มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นที่ 4 รองจาก ปตท. เอสโซ่ และบางจาก คุณพิทักษ์ CEO ของ PTG เคยเขียนไว้ในหนังสือ คนเล็กเวทียักษ์ เรื่องกลยุทธ์ของมวยรองไว้ว่า หากรู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ต้องฝึกฝน ความสำเร็จจะมาจาก ข้อแรก ช่างคิด ช่างสังเกต หลักการคือ ไม่ประมาท และมองหา worst case scenario อยู่ตลอด ส่วนข้อสอง ตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นทุกปี โดยมีหลักคิดว่า “เล็งธนูไปที่ดวงอาทิตย์ อย่างน้อยได้ดวงจันทร์มาก็ยังดี” สำหรับข้อสาม create สิ่งใหม่ตลอดเวลา เช่น การหาร้านอาหารใหม่ๆ เข้าไปอยู่ในปั๊มน้ำมัน
บริษัทที่ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาทักษะมนุษย์ เป็นบริษัทเทคดาวรุ่งจากอินโดนีเซีย ที่นำเทคโนโลยี มาผสมผสานกับการพัฒนาคน คือ บริษัท Dicoding Indonesia ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถึงปัจจุบัน บริษัทมีนักเขียนและพัฒนาโปรแกรมอยู่ภายในเครือข่ายถึง 180,000 คน จาก 470 เกาะทั่วอินโดนีเซีย โดยยังไม่รวมนักเรียนอีก 100,000 คนที่กำลังเรียนวิธีเขียนและพัฒนาโปรแกรมผ่าน online และยังมีบริษัท start-up อีก 800 บริษัทภายใต้เครือข่าย
Dicoding Indonesia มีความตั้งใจ 2 อย่าง คือ 1.ทำอย่างไรให้นักเขียนโปรแกรมเหล่านี้ สามารถสร้างธุรกิจ tech start up ได้ ไม่ใช่เพียงแค่เขียน Code เป็น 2.เมื่อเทคโนโลยี คือ เทรนด์ในอนาคต อีกทั้งตลาดยังต้องการนักเขียนโปรแกรมอีกเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงต้องการสร้าง digital talents ขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดให้มากที่สุด จึงสร้างหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก Google, Microsoft, และ Line ส่วนความตั้งใจสุดท้าย สิ่งที่ Dicoding Indonesia ตั้งใจ คือ ไม่ได้เพียงสอนให้คนทั่วไปสามารถ coding ได้เท่านั้น ที่นี่ยังมี job marketplace เพื่อหางานให้กับนักเรียนอีกด้วย นับเป็นความฉลาดของ Dicoding Indonesia ในการเอาชนะความเป็นเกาะจำนวนมากของประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อให้ทุกคนไม่ว่าอยู่เกาะไหน ก็สามารถพัฒนาทักษะ coding ได้
รางวัลสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กของสิงคโปร์คือ Shalom International Movers Pte. Ltd บริษัทขนย้าย ที่ได้รับรางวัล Great Place to Work Award 2018 โดยให้ความสำคัญกับการสร้างคน ในการเชื่อมคนกับเทคโนโลยี ทั้งเชื่อว่าการสร้างคนจะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ Shalom จัดสรรงบประมาณสำหรับการอบรมให้พนักงานอย่างน้อย $1,000 เหรียญสิงคโปร์ ส่งพนักงานให้ไปเข้าคอร์สเรียนหลายอย่าง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล search engine optimisation หลังจากจบคอร์สแล้ว มีการจัดงานรับประกาศนียบัตร ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ภายใต้ครอบครัวเดียวกัน พนักงานลาออกน้อย แต่มีพนักงานที่อยู่กับ Shalom เกิน 10 ปี มากกว่า 30 คน ซึ่งนับว่าสูง เมื่อเทียบกับลักษณะพนักงานของอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย ที่อยู่กับบริษัทประมาณเพียง 3-4 เดือน
บริษัทเหล่านี้ คือ ตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในประเทศและในอาเซียน เช่น กระทิงแดง ที่พัฒนาบริษัทในไทย พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยนำสินค้าไทยไปขายทั่วโลก พัฒนาให้สามารถเป็นบริษัทชั้นนำได้ หรือวิธีคิดของ PTG ที่เอาความเก่งที่ต่างจังหวัด มาปรับใช้กับการแข่งกับปั้มยักษ์ใหญ่ Dicoding Indonesia ที่ใช้เทคโนโลยีปิดจุดอ่อนของภูมิศาสตร์ประเทศ และแปรเปลี่ยนทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของอินโดนีเซีย มาเป็นกองทัพ เขียนโปรแกรม รองรับการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในอนาคต และ Shalom ที่นำเทคโนโลยีมาใช้กับคนทุกระดับ สร้างความสามารถของพนักงานขนย้าย ด้วยการลงทุนในการอบรมสร้างคนและใช้เทคโนโลยีช่วยทำให้กระบวนการทำงานขนย้ายสั้นและเร็วขึ้น วิธีคิดที่เหล่านี้ ทำให้โลกธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ต่อ อีกทั้งทำให้ภูมิภาคอาเซียนเติบโตต่อไปได้